ยิงดับผู้นำโรฮิงยา – เมื่อ 30 ก.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เกิดเหตุมือปืน 4-5 คนบุกยิงสังหาร นายโมฮิบ อุลเลาะห์ อายุ 40 กว่าปี ผู้นำโรฮิงยาในค่ายผู้อพยพ ซึ่งเคยเดินทางเยือนทำเนียบขาว เมื่อปี 2562 พบปะนายโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าความทุกข์ยากของชาวโรฮิงยาในเมียนมา

ยิงดับผู้นำโรฮิงยา

ครูโมฮิบ อุลเลาะห์ ผู้ตาย

เหตุเกิดช่วงสองทุ่ม วันที่ 29 ก.ย. ระหว่างที่นายอุลเลาะห์กำลังหารือกับบรรดาหัวหน้ากลุ่มผู้ลี้ภัยด้านนอกห้องทำงาน ที่ค่ายกูตูปาลอง เขตค็อกซ์บาซาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ หลังถูกยิง มีผู้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (แอมแอ็สเอ็ฟ) ภายในค่าย แต่นายอุลเลาะห์สิ้นใจในที่สุด

นายโมฮิบ อุลเลาะห์ เป็นครู และเป็นหัวหน้าสมาคมอาระกันโรฮิงยาเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน (เออาร์พีเอสเอช) ที่ค่ายกูตูปาลอง เมื่อปี 2562 เคยจัดงานครบรอบ 2 ปี ที่ชาวโรฮิงยานับ 7 แสนชีวิตต้องระหกระเหินออกจากรัฐยะไข่ในเมียนมา

งานรำลึกชีวิตอพยพเมื่อปี 2562 / Rohingya refugees gather to mark the second anniversary of the exodus at the Kutupalong camp in Cox’s Bazar, Bangladesh, August 25, 2019. REUTERS/Rafiqur Rahman/

งานดังกล่าวมีชาวโรฮิงยาเข้าร่วมถึง 2 แสนคน แต่สื่อมวลชนบังกลาเทศวิพากษ์วิจารณ์การจัดงานดังกล่าวด้วยท่าทีไม่พอใจ

อ่านข่าว : รำลึก2ปีวันพม่าเริ่มปราบ โรฮิงยา 7 แสนชีวิตทิ้งยะไข่หนีเอาชีวิตรอด

ความมีชื่อเสียงของของอุลเลาะห์ ทำให้ผู้นำโรฮิงยาคนนี้ตกเป็นเป้าหมายปองร้ายและถูกขู่เอาชีวิตหลายครั้งจากกลุ่มสายสุดโต่ง จนเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อปี 2562 ว่า “ถ้าผมตาย ก็ไม่เป็นไรหรอก ผมยอมสละชีวิต”

ยิงดับผู้นำโรฮิงยา

นายอุลเลาะห์ (สวมสูทยืนด้านขวา) เคยเข้าพบนายทรัมป์

องค์กร ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ แถลงว่า นายโมฮิบ อุลเลาะห์ คือเสียงสำคัญของชุมชนโรฮิงยา จากการที่สื่อสารออกไปสู่โลกเพื่อปกป้องสิทธิของชาวโรฮิงยาที่ควรได้รับความปลอดภัยในชีวิตและกลับถิ่นฐานอย่างมีเกียรติ การสังหารครั้งนี้ตอกย้ำถึงอันตรายของผู้ที่กล้าพูดเพื่ออิสรภาพและต่อต้านความรุนแรง

ความตายของโมฮิบ อุลเลาะห์ ไม่เพียงบั่นทอนการต่อสู้ดิ้นรนของผู้อพยพโรฮิงยาเพื่อให้ได้สิทธิและความคุ้มครองภายในค่ายผู้อพยพ ยังบั่นทอนกระบวนการส่งกลับชาวโรฮิงยาไปยังเมียนมาอีกด้วย องค์กร ฮิวแมน ไรต์ วอตช์จึงขอเรียกร้องให้สอบสวนผู้ก่อเหตุและเบื้องหลังการสังหารในครั้งนี้ด้วย

ยิงดับผู้นำโรฮิงยา

ภายในค่านกูตูปาลอง (AP Photo/Shafiqur Rahman, File)

ด้านนายซาอัด ฮัมมาดี แห่งองค์กรแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล กล่าวเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ และหน่วยงานช่วยเหลือผู้อพยพของสหประชาชาติ ร่วมกันให้ความคุ้มครองประชาชนภายในค่ายผู้อพยพ ที่เริ่มมีปัญหามากขึ้น จากกลุ่มติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับเจ้าพ่อค้ายาเสพติด คนกลุ่มนี้มักเข้าไปสังหารและจับผู้อพยพเป็นตัวประกันรีดไถเงิน

สำหรับผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่อยู่ในฝั่งบังกลาเทศขณะนี้ มีมากกว่า 1.1 ล้านคน นับตั้งแต่เกิดการ กวาดล้างในรัฐยะไข่ ระลอกล่าสุด เมื่อปี 2560

++++

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน