จอมบงการ โนแทอูเอพี รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2564 นายโน แท-อู อดีตนายพลและอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อรัฐประหารปี 2522 และร่วมบงการการปราบปรามนักศึกษาที่กวางจู ปี 2523 ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ขณะอายุ 88 ปี ด้วยโรคแทรกซ้อนหลายโรคที่อาการทรุดลงเรื่อยๆ

 

นายโนปิดฉากชีวิตที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล หลังจากช่วงบั้นปลายชีวิต 10 ปีสุดท้ายมานี้ล้มป่วยติดเตียง ไม่อาจขยับเขยื้อนร่างกายหรือพูดอะไรได้ ลูกสาว ชื่อ โน โซยอง เผยทางเฟซบุ๊กว่าบางครั้งพ่อพยายามส่งสายตาเพื่อสื่อสาร แต่เหมือนอยากร้องไห้ที่แสดงความรู้สึกไม่ได้อย่างที่ใจอยากทำ

ชีวิตของนายโน แทอู ถูกจดจำในฐานะผู้วางแผนก่อรัฐประหาร นำกองทัพบุกเข้ายึดเมืองหลวง แล้วหนุนให้นายพลชุน ดูฮวาน ขึ้นเป็นผู้นำเมื่อในปี 2522 จังหวะที่นายพล ปัก จุงฮี ผู้นำเผด็จการที่ปกครองเกาหลีใต้ยาวนาน 18 ปี ซึ่งนายโนนับถือเป็นอาจารย์ ถูกลอบสังหาร

ระหว่างนายโนร่วมรัฐบาลชุน ดูฮวาน มีบทบาทสั่งการปราบปรามนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐประหารอย่างหนักจนกลายเป็นเหตุนองเลือดที่กวางจูในปี 2523 มีผู้เสียชีวิตเกิน 200 ราย เป็นประวัติศาสตร์ที่มืดมนที่สุดของเกาหลีใต้

เหตุการณ์ทหารปราบปรามนักศึกษาที่ควังจู หรือ กวางจู

ต่อมานายโนได้รับการวางตัวจากชุน ดูฮวาน ให้เป็นทายาททางการเมือง แต่สถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้นกดดันให้ต้องจัดการเลือกตั้งในปี 2530 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองเกาหลีใต้จากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย

ด้วยปัจจัยที่เอื้อให้ทุกอย่าง รวมถึงผู้สมัครฝ่ายเสรีนิยมแย่งชิงคะแนนกันเอง ทำให้นายโนชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก เมื่อปี 2531 และปกครองถึงปี 2536 ท่ามกลางความแตกแยกของชาวเกาหลี มีฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน

เหตุนองเลือดที่กวางจู

ช่วงการปกครอง 5 ปีของนายโน ตรงกับช่วงที่คอมมิวนิสต์ทยอยล่มสลาย และกำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ทำให้นายโนเริ่มความสัมพันธ์กับชาติยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี ในปี 2532 ตามด้วยสหภาพโซเวียต ปี 2535 และจีน ปี 2535

นอกจากนี้นายโนยังสานสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีสองฝ่ายเปิดการพบปะเจรจากัน และมีแถลงการณ์ร่วมที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีกลับขึ้นๆ ลงๆ

(FILES) This file photo taken on December 18, 1995 shows former South Korean president Roh Tae-woo (C) being escorted into the Seoul District Criminal Court Building to stand trial on corruption charges. (Photo by CHOO Youn-Kong / AFP)

ยุคของนายโน แทอู เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมโอลิมปิก 1988 ในปีพ.ศ.2531 เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า เกาหลีใต้พลิกฟื้นประเทศจากเถ้าธุลีในสงครามเกาหลี ช่วงปี 2493-2596 ขึ้นมาเป็นชาติที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของนายโนทางการเมืองภายในประเทศ ยังคงเป็นผู้นำไร้เสน่ห์ และเป็นคนแข็งกร้าวเหมือนนายพลเช่นเดิม แม้แต่ชื่อเล่นของนายโน ว่า มุล (น้ำ) แทอู ถูกล้อเลียนว่า หมายถึงไม่มีสีสันไม่มีรสชาติ

(FILES 1995 ) former South Korean president Roh Tae-woo (R) into a waiting car in front of the Prosecutor General’s Office. (Photo by CHOO Youn-Kong / AFP)

ต่อมา เมื่อนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยม นายคิม ยังซัม ชนะการเลือกตั้งและขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ได้สั่งตั้งทีมสอบสวนผู้บงการกวาดล้างผู้ต่อต้านรัฐประหาร ทำให้นายโนถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกตัดสิน มีความผิดฐานก่อกบฏ และคอร์รัปชั่น มีบทลงโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน ส่วนนายพลชุน ดูฮวานถูกตัดสินประหารชีวิต

จอมบงการ โนแทอู

FILE – โน แทอู และ ชุน ดูฮวาน ขึ้นศาลกรุงโซล เมื่อ 26 ส.ค. 2539 (Yonhap via AP, File)

ต่อมาศาลฎีกา ลดโทษให้นายพลชุน ดูฮวาน เหลือจำคุกตลอดชีวิต และนายโน เหลือจำคุก 17 ปี แต่หลังจากอยู่ในเรือนจำได้ 2 ปี นายโนและชุน ดูฮวาน ต่างได้รับอภัยโทษเป็นพิเศษจาก คิม แดจุง ประธานาธิบดีในปี 2540 ตามกระบวนการสมานฉันท์ในประเทศ

หลังจากออกจากเรือนจำแล้ว นายโนไม่ได้ปรากฏตัวทางสาธารณชนมากนัก กระทั่งช่วงปีหลังๆ มานี้ยังป่วยโรคมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก หอบหืด โรคสมอง และอาการป่วยอื่นๆ

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นายโน แจเฮือน ลูกชาย เป็นตัวแทนพ่อ เดินทางไปไว้อาลัยเหยื่อในเหตุการณ์นองเลือด ที่สุสานในกวางจู พร้อมกล่าวขอโทษญาติมิตรของเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าว

“พ่อบอกพวกเราเสมอว่าต้องแก้ไขความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ ในฐานะที่ผมเป็นลูกชายคนโต ผมขอให้ประชาชนแห่งกวางจูยกโทษให้ด้วย”

+++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง จอมบงการ โนแทอู :

40ปีนองเลือดที่กวางจู เผด็จการส่งทหารปราบประชาชน ใส่ร้ายเป็นกบฏ

กองทัพเกาหลีขอโทษแล้ว ทหารข่มขืนนศ.ต้านรัฐประหาร ‘กวางจู1980’

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน