สุดตะลึง! นักบรรพชีวินวิทยามะกันพบซากฟอสซิล กะโหลกสัตว์ทะเลยุคไดโนเสาร์ ยาว 2 เมตร อายุมากกว่า 246 ล้านปี

มิเลอร์รายงาน การค้นพบสัตว์ทะเลยักษ์ หรือ ไดโนเสาร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยไทรแอสซิกในสถานที่ที่แห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นักบรรพชีวินวิทยาพบ Cymbospondylus Youngorum ในทะเลทรายแบล็คร็อกของรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกะโหลกศีรษะยาว 2 เมตร หากตัวโตเต็มที่วัดจากจมูกถึงหาง มีความยาว 56 ฟุตหรือเกือบ 17 เมตรและมีน้ำหนักมากกว่า 40 ตัน พร้อมทั้งเชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่เมื่อ 244 ล้านปีก่อน

ภาพจาก SWNS

Cymbospondylus Youngorum เป็นสัตว์เลื้อยคลานในน้ำวงศ์​อิกธิ​โอ​ซอ​ร์ (Ichthyosaur)และเป็นบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุด จากการตรวจสอบหาอายุของกะโหลกสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ ปรากฏว่า C. youngorum วิวัฒนาการจากอิกธิโอซอรัสให้มีขนาดมหึมาภายในเวลาเพียง 3 ล้านปี หรือมีอายุประมาณ 246 ล้านปี

ซึ่งมีวิวัฒนาการเร็วกว่าวาฬมาก เพราะเชื่อกันว่าวาฬที่เก่าแก่ที่สุดมีวิวัฒนาการเมื่อประมาณ 56 ล้านปีก่อน ต้องใช้เวลาอีก 50 ล้านปีจึงจะเติบใหญ่เท่าขนาดบางสายพันธุ์ในปัจจุบัน นักบรรพชีวินวิทยากล่าวว่า C. youngorum อาจเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ตัวแรกที่เคยอาศัยอยู่บนโลกและสัตว์เลื้อยคลานในทะเลนั้นเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา

นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าการค้นพบนี้จะช่วยเผยวิวัฒนาการ รวมถึงผลกระทบของสัตว์ทะเลที่เกิดจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีรายงานว่าสัตว์น้ำสูญพันธุ์ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน

ภาพจาก SWNS

ศาสตราจารย์มาร์ติน แซนเดอร์ หัวหน้าทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนี กล่าวในวารสาร Scienceว่า “ถึงแม้ปลาวาฬจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ในมหาสมุทรกลุ่มแรก Cymbospondylus youngorum มีจมูกยาวและมีฟันแหลม ทานปลาและปลาหมึกเป็นอาหารหลัก ทว่าเมื่อพิจารณาถึงขนาดของมันแล้ว C. youngorum ยังสามารถทานสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลที่มีขนาดเล็กกว่าและอายุน้อยกว่าได้ ซึ่งระบบนิเวศที่ C. youngorum อาศัยอยู่นั้นไม่เหมือนทะเลในปัจจุบัน”

ศาสตราจารย์มาร์ตินกล่าวว่า “จากการค้นพบโครงกระดูกครั้งแรกในตอนใต้ของประเทศอังกฤษและประเทศเยอรมนีเมื่อ 250 ปีก่อน “ปลา” เหล่านี้เป็นหนึ่งในสัตว์เลื้อยคลานฟอสซิลขนาดใหญ่กลุ่มแรกที่รู้จักกันในด้านวิทยาศาสตร์ มานานก่อนไดโนเสาร์ “

เดลีเมลรายงาน ซากดึกดำบรรพ์ของ C. youngorum ถูกค้นพบครั้งแรกในเทือกเขา Augusta Mountains เมื่อปี 1998 ซึ่งพบในรูปแบบของชิ้นส่วนกระดูกสันหลัง ต่อมาเดือนกันยายนปี 2011 นักบรรพชีวินวิทยาขุดพบกะโหลกฟอสซิล กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกหน้าอกของอิกไทโอซอร์ขนาดใหญ่

ภาพจาก SWNS

ลาร์ส ชมิทซ์ นักบรรพชีวินวิทยาจากแผนกวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยสคริปส์ ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นสมาชิกของทีมที่วิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ เรียกการค้นพบครังนี้ว่า การค้นพบที่อ้าปากค้าง พร้อมกล่าวว่า “หลังจากอธิบายกายวิภาคของกะโหลกยักษ์อย่างละเอียดแล้วนี้จึงเข้าใจว่าสัตว์ชนิดนี้เกี่ยวข้องกับอิกธิโอซอรัสอื่น ๆ อย่างไร” พร้อมชี้ให้เห็นว่าน่านน้ำของรัฐเนวาดาเคยเหมาะสมกับการพัฒนาของความใหญ่โตของสัตว์ทะเล ซึ่งอุดมไปด้วยอาหารอย่างคอนโนดอนต์และแอมโมไนต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักบรรพชีวินวิทยาศึกษาเสร็จสิ้น กะโหลกของ C. youngorum จะได้การเก็บรักษาในหมวดบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลอสแองเจลิส

ขอบคุณที่มาจาก Mirror Dailymail

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน