พรุ่งนี้ก่อนฟ้าสาง ดาวศุกร์-ดาวพฤหัสบดี จะเข้าใกล้กันที่สุด
วันที่ 30 เม.ย. บีบีซี รายงานว่า สุดสัปดาห์นี้คนบนโลกจะสามารถมองเห็น ดาวศุกร์-ดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ 2 ดวงที่สว่างที่สุดของระบบสุริยะ เกือบสัมผัสกัน หรือการเคียงกันของดาวเคราะห์ (planetary conjunction) ได้ด้วยแค่ตาเปล่าหรือกล้องส่องทางไกลในท้องฟ้าปลอดโปร่ง

The Weather Network
การเคียงกันของดาวเคราะห์นี้เกิดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้กันมากกว่าปกติ และหลังจากวันเสาร์ที่ 30 เม.ย. เป็นต้นไป จะแยกกันไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หากพลาดจะต้องรออีกครั้งในปี 2582 เลยทีเดียว
ศาสตราจารย์ลูซี กรีน นักวิทยาศาสตร์อวกาศและหัวหน้านักดูดาว ที่สมาคมดาราศาสตร์ประชาชน (Society for Popular Astronomy) ของสหราชอาณาจักร อธิบายว่า “มันน่าตื่นเต้นอย่างยิ่งสำหรับนักดาราศาสตร์และมันเป็นโอกาสวิเศษจริงๆ สำหรับประชาชนที่จะออกไปดู”

The Weather Network
การเคียงกันของดาวเคราะห์เกิดขึ้นเมื่อดาวเคราะห์ 2 ดวง ปรากฏขึ้นใกล้กันหรือแม้แต่สัมผัสกันในท้องฟ้ายามค่ำคืนของโลก
ในช่วงเวลาหลายวันที่ผ่านมาถึงวันเสาร์ที่ 30 เม.ย. ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีค่อยๆ หาเข้ากันบนท้องฟ้าของโลก
วงโคจรที่แท้จริงของดาวเคราะห์ 2 ดวง อยู่ห่างกันประมาณ 430 ล้านไมล์ (692 ล้านกิโลเมตร) แต่การเคียงกันของดวงเคราะห์ที่คนมองเห็นจากโลกเป็น “ภาพลวงตา” ว่าดาวเคราะห์ 2 ดวงสัมผัสกัน
ช่วงเวลาดีที่สุดที่จะมองเห็นคือวันเสาร์ที่ 30 เม.ย. ราว 05.00 น. แต่จะยังสามารถมองเห็นได้อีกในวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ค. และในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ก่อนดาวเคราะห์ 2 ดวงจะเคลื่อนตัวออกจากกันอย่างช้าๆ
สำหรับเมืองไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ระบุว่า ดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุด 2 ดวงนี้จะเข้าใกล้กันที่สุดในวันที่ 1 พ.ค. ตั้งแต่ 03.45 น. เป็นต้นไป ตามเวลาที่อ.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์
ก่อนฟ้าสางจะเป็นช่วงเวลาดีที่สุด มองไปทางทิศตะวันออกก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะลดระดับลงในท้องฟ้าและเข้าใกล้กับเส้นขอบฟ้า เทือกเขาและสิ่งปลูกสร้างจึงบดบังการมองเห็น หากเป็นไปได้ มองหาจุดสูงๆ และมองหาจุดสว่างจ้า 2 จุด ที่อยู่ใกล้กันมาก
“ดาวเคราะห์ 2 ดวงจะมีความสว่างต่างกัน ดาวศุกร์สว่างกว่าดาวพฤหัสบดี ดังนั้น เมื่อเห็นจะดูสว่างเป็นประกาย ส่วนดาวพฤหัสบดีจะจางลงเล็กน้อย ประมาณ 1 ใน 6 เท่าของความสว่างของดาวศุกร์” ศาสตราจารย์กรีนอธิบายและแนะนำให้ผู้ต้องการดูใช้แอปพลิเคชั่นช่วยนำทางรอบท้องฟ้า
หากใครมีกล้องโทรทรรศน์อาจสามารถเห็นโครงสร้างบางอย่างในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีหรือดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดบางดวงของดาวพฤหัสบดีได้
การเคียงกันของดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีสามารถมองเห็นได้จากทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ในเวลาแตกต่างกันของกลางวันและกลางคืน แต่ใครสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์อาจมองเห็นอะไรพิเศษกว่า
นั่นคือการเรียงตัวเป็นแถวของดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี กับดาวเคราะห์อีก 2 ดวง ได้แก่ ดาวอังคาร และดาวเสาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จับตาใกล้รุ่ง 5 เม.ย. “ดาวเสาร์เคียงดาวอังคาร” บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก