ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปนประกาศรับรองปาเลสไตน์ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา อิสราเอลตอบโต้ด้วยการถอนเอกอัครราชทูตอิสราเอลจากไอร์แลนด์และนอร์เวย์ ขณะที่ก็วางแผนที่จะถอนเอกอัครราชทูตอิสราเอลจากสเปนด้วย
สเปนระบุว่า การตัดสินใจรับรองรัฐปาเลสไตน์ไม่ได้ต่อต้านอิสราเอลหรือสนับสนุนฮามาส แต่เพื่อสันติภาพ ซึ่งนายอิสราเอล คัตซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลกล่าวตอบโต้ว่า “การตัดสินใจรับรองรัฐปาเลสไตน์จากสามประเทศเป็นการกระทำที่บิดเบือนซึ่งแสดงว่าการก่อการร้ายเป็นประโยชน์ต่อคุณ”
ย้อนไปในปีค.ศ. 1967 หรือปีพ.ศ.2510 อิสราเอลยึด 3 ดินแดน และตามมาด้วยหลายทศวรรษของการเจรจาสันติภาพในลักษณะเริ่มๆหยุดๆต้องประสบความล้มเหลว
สหรัฐอเมริกา อังกฤษและชาติตะวันตกอื่นๆสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์ที่มีเอกราชอยู่เคียงข้างอิสราเอล เป็นวิธีแก้ปัญหาในความขัดแย้ง ซึ่งยากที่จะควบคุมมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ก็ยืนกรานว่าความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ควรเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงที่ผ่านการเจรจา และตั้งแต่นั้นไม่มีการเจรจาที่มีแก่นสารตั้งแต่ปี 2552
แม้ว่าชาติสหภาพยุโรปหรืออียูหลายชาติและนอร์เวย์จะไม่ได้กำลังรับรองรัฐที่ดำรงอยู่/มีอยู่แล้ว แต่เป็นการรับรองเพียงความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งเป็นรัฐ ถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ที่ช่วยเพิ่มจุดยืนในเวทีโลกของปาเลสไตน์และสุมกองความกดดันเพิ่มมากขึ้นต่ออิสราเอลให้เปิดการเจรจายุติสงคราม
ปัจจุบันประเทศที่รับรองปาเลสไตน์มีทั้งหมด 142 ประเทศและตั้งแต่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมสเปน ไอร์แลนด์ นอร์เวย์เป็น 145 ประเทศ สัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นทั้งหมด
ชาติมหาอำนาจบางประเทศทำให้รู้ว่า จุดยืนของประเทศอาจกำลังค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อผลลัพธ์ที่เกิดจากการปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลในกาซ่า ซึ่งสังหารชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 36,000 ราย อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขกาซ่าภายใต้ฮามาส ซึ่งเกณฑ์การนับผู้เสียชีวิตของกาซ่าไม่แยกผู้ที่ไม่ใช่นักรบและนักรบออกจากกัน
ทั้งนี้ อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการโจมตีหลังเหตุการณ์ 7 ต.ค.ปีที่แล้ว นักรบติดอาวุธฮามาสบุกข้ามพรมแดนกาซ่าเข้าไปในอิสราเอลสังหารประชาชน 1,200 รายและจับตัวประกัน 250 คน
เหตุใดบางประเทศจึงยังไม่รับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐหนึ่ง
ประเทศจำนวนหนึ่งในโลกไม่รับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ เนื่องจากเชื่อว่าปัญหาไม่สามารถได้รับการแก้ไขผ่านการเจรจากับอิสราเอล
“สหรัฐอเมริกากล่าวโดยวาจาอยู่บ่อยๆว่า ปาเลสไตน์จำเป็นต้องถูกสร้างเป็นรัฐ แต่ยืนกรานด้วยว่าอิสราเอลและปาเลสไตน์จำเป็นต้องหารือประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหมายความว่า อิสราเอลกำลังได้รับอำนาจในการคัดค้านหรือยับยั้งความหวังในการเป็นเอกราชของปาเลสไตน์” นายฟ็อส จูร์จิส ศาสตราจารย์วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอนหรือแอลเอสอีกล่าว
การเจรจาสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1990 และผลลัพธ์ที่ได้ คือการใช้แนวทางสองรัฐแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม การเจรจาสันติภาพชะลอลงในทศวรรษ 2000 และจากนั้นการเจรจาต่อรองระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาประสบความล้มเหลวในปี 2557
หลายประเทศที่ต้องการความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและจริงใจกับอิสราเอลรู้ว่าการรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐๆหนึ่งจะทำให้อิสราเอลโกรธเคือง
หลายชาติที่สนับสนุนอิสราเอลระบุว่า ปาเลสไตน์ไม่ได้มีองค์ประกอบตามอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอปี 1933 เกี่ยวกับการรับรองชาติใดชาติหนึ่งในฐานะประเทศหนึ่ง ปาเลสไตน์ขาดความสามารถที่จะสร้างประชากรที่มีถิ่นที่อยู่ถาวร ซึ่งต้องตั้งถิ่นฐานอยู่บนดินแดนที่จะเป็นรัฐ การมีดินแดนที่แน่นอนชัดเจน อีกทั้งความสัมพันธ์กับรัฐบาลและประเทศอื่นๆยังคงไม่ชัดเจน
เอพีรายงาน อังกฤษระบุว่า ไม่มีการรับรองรัฐปาเลสไตน์เกิดขึ้นในช่วงที่ฮามาสยังคงอยู่ในกาซ่า แต่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อการเจรจาต่อรองกับผู้นำปาเลสไตน์มีความคืบหน้า ฝรั่งเศสแสดงว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมกับประเทศอื่นๆในการรับรองรัฐปาเลสไตน์ แม้ว่าฝรั่งเศสไม่ได้คัดค้านการรับรองรัฐปาเลสไตน์ในแง่หลักการ เยอรมนีระบุว่า จะไม่รับรองรัฐปาเลสไตน์ในตอนนี้
สถานะของดินแดนปาเลสไตน์ในองค์การสหประชาชาติ
ปาเลสไตน์มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่รัฐสมาชิกของยูเอ็น ซึ่งในปี 2554 ปาเลสไตน์ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกถาวรของยูเอ็นแต่การร้องขอของปาเลสไตน์ไม่ได้รับการสนับสนุนในสภาความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ปาเลสไตน์ยังคงสามารถเข้าร่วมในการอภิปรายที่ยูเอ็น แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้โหวตออกเสียงในมติต่างๆ
ในปี 2555 ยูเอ็นรับรองปาเลสไตน์ในฐานะ รัฐสังเกตการณ์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูเอ็น การตัดสินดังกล่าวทำให้ได้รับการยกย่องในกาซ่าและในเวสต์แบงก์ อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและสหรัฐอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าวของยูเอ็น นอกจากนี้ปาเลสไตน์ยังได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง
นายคาลิด อัลจันดี นักวิเคราะห์จากสถาบันตะวันออกกลางในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า การกลายเป็นสมาชิกถาวรของยูเอ็นจะเพิ่มพลังทางการทูตของชาวปาเลสไตน์และจะสามารถเสนอร่างมติและโหวตออกเสียงในร่างมติที่เสนอที่ยูเอ็นอีกด้วย
แต่ทั้งหมดนี้จะไม่นำไปสู่แนวทางสองรัฐที่แก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหากการยึดครองของอิสราเอลสิ้นสุดลง
นายกิลเบิร์ต อชาการ์ ศาสตราจารย์วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา หรือโซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าวว่า ปาเลสไตน์จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกถาวรของยูเอ็น โดยจะเป็นเพียงชัยชนะเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
อ่าน เหตุใดการรับรองรัฐปาเลสไตน์ของสเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ จึงสำคัญ
อ่าน ยิวถล่มราฟาห์ต่อเนื่อง แม้เสียใจชาวบ้านดับอื้อ-ตะลึง 145 ชาติรับรองปาเลสไตน์
อ่าน ยิวลงโทษสถานกงสุลสเปน หลังประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์
อ่าน กต.เผยตัวประกันคนไทยเสียชีวิต 2 ราย เรียกร้องปล่อยตัวประกันที่เหลืออีก 6 คน