ชาวบ้านงานเข้า ! สนช.ผ่าน พรบ.อุทยานฯ วางโทษหนักบุกรุก-เก็บของป่า คุก 5 ปี ปรับ 5 แสน

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … ในวาระ 2 วาระ 3 ต่อจากเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา

โดย นายสนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงในมาตรา 63 ถึงความจำเป็นที่ต้องบัญญัติกรอบมติคณะรัฐมนตรี ปี 2541 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ไว้ในกฎหมาย เพราะเป็นการวางกรอบเวลาของกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ ได้รับความเดือดร้อน และไม่มีความจำเป็นต้องใส่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561

เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีปี 2541 ถือว่าครอบคลุมแล้ว ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีวาระซ่อนเร้นแต่อย่างใด ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติมากกว่า 60 ปี ไม่มีความสุขสบาย ไม่ได้รับความสะดวก กฎหมายนี้จะช่วยให้ทุกอย่างถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความสมดุลระหว่างการอยู่ของชุมชนในอุทยานแห่งชาติและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างยิ่ง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ด้าน นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติมติครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 เพราะมติดังกล่าวเป็นมติรองรับความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้ราษฎรอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมทั้ง กรอบเวลาที่ใช้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 63 ซึ่งมีความชัดเจนและครอบคลุมแล้ว และมติครม.ดังกล่าวนี้เป็นมติ ครม.รวมที่เกี่ยวกับป่าไม้ทั้ง 5 พื้นที่

ขณะที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า มติคณะรัฐมนตรีปี 2541 จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ และหากนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ใส่ไว้ในกฎหมายอาจทำให้เกิดความขัดข้องและกระทบต่อชาวบ้าน

แต่สามารถนำไปบัญญัติไว้ในข้อสังเกต เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ รวมทั้งการบัญญัติให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะผลประโยชน์จะถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วที่ประชุมได้มีมติเห็นควรให้แก้ไขตามกรรมาธิการเสียงข้างมากในวรรคสามของมาตรา 63 นอกจากนี้สนช.ได้แสดงความเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่หาของป่า เก็บเห็ดแล้วถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก รวมทั้งยังมีสัตว์ที่ชาวบ้าน ชนเผ่าหรือชนพื้นเมืองที่เลี้ยงเป็นสัตว์ปล่อย เพราะไม่มีทุ่งหญ้าอยู่บริเวณบ้านจึงปล่อยเข้าป่า แล้วไปตามจับ จะเป็นปัญหาหรือไม่

พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สนช. อภิปรายแสดงความสงสัยในมาตรา 64 ถึงคำว่าประเภทและชนิดของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ในอุทยานแห่งชาติ ที่ได้ประกาศกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาก่อนวันที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ คืออะไรบ้าง อยากให้มีบัญชีแนบท้ายสัตว์และพืชให้ชัดเจน

ด้าน นายชลธร ชำนาญคิด ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่าร่างพ.ร.บ.มาตรา 64 นี้ ประเด็นสำคัญคือการแก้ไขปัญหากรณีที่ประชาชนเข้ามาเก็บหาพึ่งพิงทรัพยากรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมงพื้นบ้าน การเก็บหาของป่าบางอย่าง เช่น หน่อไม้ เห็ด หรือสวนไผ่ นั้น จะมีการทำการศึกษาแบ่งโซนสำรวจโดยใช้เงื่อนไขเวลา 240 วันตามวรรคหนึ่งที่กำหนดไว้ เพื่อดูว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งใดที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีไว้ก่อนแล้ว พื้นที่ตรงไหนบ้างที่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 64 นี้

โดยจะศึกษาความเหมาะสมว่ามีทรัพยากรใดบ้างที่จำเป็นให้ใช้ประโยชน์ และถ้าใช้ไปแล้ว ก็ต้องส่งเสริมฟื้นฟู และสำหรับในส่วนทรัพยากรที่ทดแทนได้ เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาต่อในการที่จะอนุญาตให้มีการเก็บหาของป่า หรือพึ่งพิง ซึ่งทั้งหมดจะต้องจัดทำแนวเขต โดยเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในกรอบเวลาดังกล่าว

ภายหลังการชี้แจง สนช.ไม่ติดใจ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 140 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 7 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น จะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด โดยกรรมาธิการฯ และสนช.เห็นชอบ ตามมาตรา 42 ที่ระบุว่าผู้ใดเก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น

หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤษศาตร์ หรือสวนรุกขชาติ อันเป็นการฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนความผิดหากเป็นการกระทำแก่ธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล และมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 2,000 บาท ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท ส่วนการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาแก่ไม้ ที่เป็นต้น

หรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกิน 20 ต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาณไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4แสนบาทถึง 2 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน