กรุงเทพมหานคร ออกคำสั่ง ถึงผู้ที่ต้องการจัดงานประชุม กิจกรรม สัมมนา หรือ กิจกรรมขนาดใหญ่ ต้องขออนุญาต และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด อย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า ได้กำหนดแนวทางยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กรณีที่มีการประชุม สัมมนาที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 200 คน หรือจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีการชุมนุมเกิน 300 คน ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 4 ม.ค.64 โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัย รายละเอียดประกอบด้วย 1. ลักษณะงาน/กิจกรรม เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น งานสัมมนา รูปแบบการจัดงาน/กิจกรรมเป็นอย่างไร เช่น การจัดบูธแสดงผลงาน การรับประทานอาหาร การมอบรางวัล 2.จำนวนผู้ร่วมงานและพื้นที่ในการจัดงาน 3.วัน เวลา สถานที่ในการจัดงาน/กิจกรรม 4.ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ประสานงานที่สามารถติดต่อได้ และผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน 5.มาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 6.แผนผังแสดงพื้นที่การจัดงานและภาพถ่าย (ถ้ามี)

ขั้นตอนที่ 2 ทำหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ที่มีการจัดงาน/กิจกรรมทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมแนบสำเนาหนังสือถึงสำนักอนามัย

ขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนการตรวจสอบและพิจารณา ประกอบด้วย 1.สำนักอนามัยร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด 2.สำนักอนามัยมีหนังสือแจ้งผู้จัดงาน/จัดกิจกรรมทราบผลการพิจารณาแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรค 3.สำนักงานเขตพิจารณาลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคในวัน เวลา และสถานที่ที่มีการจัดงาน/กิจกรรม

สำหรับตัวอย่างมาตรการในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบด้วย 1. การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้จัดและผู้ร่วมงานก่อนการเข้างาน จะต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และคัดกรองอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ (ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) หากมีอาการ ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมงานกิจกรรม และพิจารณาใช้ web base : bkkcovid 19.bangkok.go.th ในการคัดกรอง

2.ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมและต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 3.จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามเกณฑ์ขนาดพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 4 ตารางเมตรต่อคน หรืออัตราส่วนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามที่ภาครัฐกำหนด 4.จัดให้มีแอลกอฮอล์เจล 70% สำหรับทำความสะอาดมือไว้บริการตามจุดเสี่ยง หรือจุดที่มีการสัมผัสร่วมอย่างเพียงพอ

5.จัดทำสัญลักษณ์เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลร่วมกิจกรรม เช่น บริเวณลงทะเบียน บริเวณรอคิวถ่ายภาพ 6. จัดให้มีระบบการลงทะเบียนเข้าและออกจากสถานที่ และใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ในการลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ หากเป็นสมุดลงทะเบียนให้ผู้จัดงานเก็บสมุดลงทะเบียนหลังการจัดงาน/กิจกรรมหลังการจัดงานเป็นระยะเวลา 60 วัน

7.ทำความสะอาดพื้นที่หรือบริเวณที่มีการสัมผัสร่วม ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือแอลกอฮอล์ 70% หรือโซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ (น้ำยาฟอกขาว) ความเข้มข้น 0.1% บริเวณจุดเสี่ยง เช่น มือจับ ราวบันได

8.จัดให้มีห้องส้วมที่เพียงพอและทำความสะอาดอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง ด้วยน้ำยาทำความสะอาด และทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือแอลกอฮอล์ 70% หรือโซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ (น้ำยาฟอกขาว) ความเข้มข้น 0.1% เช่น ลูกบิดประตู อ่างล้างมือ ที่รองนั่งโถส้วม เป็นต้น และจัดให้มีน้ำและสบู่สำหรับล้างมืออย่างเพียงพอ

9.จัดให้มีถังขยะที่มีฝาปิดและถังรองรับไว้ภายในสถานที่อย่างเพียงพอ และรวบรวมเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี 10.หากสถานที่จัดงาน/กิจกรรมเป็นห้องปรับอากาศ ต้องมีการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ และ 11.กรณีที่มีการจัดบริการอาหาร ควรจัดในลักษณะที่ลดการสัมผัสอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น การจัดอาหารว่างแบบกล่อง การจัดอาหารชุดเดี่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถศึกษาตัวอย่างหนังสือถึงสำนักอนามัย และตัวอย่างมาตรการในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน