โควิด / เปิดเงื่อนไขมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด ลดค่าไฟ-ค่าน้ำ 2 เดือน ประจำเดือนก.พ.และมี.ค.64 จ่อลดค่าเน็ตบ้านด้วย หลังครม.อนุมัติ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 12 ม.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ได้อนุมัติหลายโครงการ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19

โดยอนุมัติข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (ม.ค.-มี.ค.2564) ได้เแก่

1.ข้อเสนอมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป เริ่มจากมาตรการช่วยเหลือค่าใช้น้ำประปา ลดร้อยละ 10 กำหนดระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าประปาประจำเดือนก.พ.และมี.ค.64 ประเภทที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 6.76 ล้านราย ทั่วประเทศวงเงิน 395 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กำหนดระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนก.พ.และมี.ค.64

โดยแนวทางการดำเนินงาน กลุ่มใช้น้อยกว่า 150 หน่วย ฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย จำนวน 10.13 ล้านราย มูลค่า 3,650 ล้านบาท กลุ่มใช้เกิน 150 หน่วย ปรับขั้นส่วนลดใหม่ จำนวน 11.83 ล้านราย มูลค่า 3,752 ล้านบาท กิจการขนาดเล็ก ฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย จำนวน 1.74 ล้านราย มูลค่า 800 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือค่าอินเทอร์เน็ต มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ประสานขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรคมนาคมในการพิจารณากำหนดมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตของครัวเรือน

2.มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 กระทรวงพาณิชย์ประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใชโรงงานของตัวเองเป็นสถานที่ในการกักตัวในพื้นที่โรงงงาน (Factory quarantine) กระทรงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ

4.การปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการ เพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการที่ประสบปัญหาและมีข้อจำกัดของการเดินทางในช่วงที่ยังมีการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในระลอกใหม่

5.มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหารือและพิจารณาเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม

6.มาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานเพิ่มเติม กระทรวงแรงงานติดตามและเร่งรัดดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน