‘สุริยะ’ ขีดเส้น 3 วัน ให้หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ขนย้าย-ทำลายสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่ตกค้าง 1,000 ตัน ยันหมิงตี้พร้อมจ่ายชดเชยความเสียหายให้ปชช.ทุกคน

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.64 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าขณะนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) มีคำสั่งปิดโรงงานที่เกิดเหตุไฟไหม้ของบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ในพื้นที่ถนนกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ไม่มีกำหนด โดยไม่ได้ใบอนุญาตแต่อย่างใด แต่หากเจ้าของบริษัทต้องการที่จะประกอบกิจการต่อไป ต้องย้ายไปดำเนินการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการยื่นแผนผังโรงงานและมาตรการรักษาความปลอดภัยตามที่กำหนดชัดเจนต่อไป

นอกจากนี้ สั่งการให้ กรอ. ทำหนังสือแจ้งไปยังโรงงานที่มีวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์สำหรับใช้ในกิจการ 446 แห่ง ทำแผนบริหารความเสี่ยง โดยร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด(อสจ.) ตรวจสอบโรงงานในกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อจัดอันดับความเสี่ยงของโรงงานและติดตามกำกับดูแลเกี่ยวกับสารเคมีอย่างเคร่งครัด

“ยืนยันจะไม่อนุญาตให้หมิงตี้ดำเนินกิจการในพื้นที่เดิม ซึ่งบริษัทสามารถยื่นคำขอสิทธิประโยชน์การลงทุนต่างๆ ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณา พร้อมกันนี้สั่งการให้ กรอ.ร่วมกับ อสจ. ติดตามตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยง 446 โรงงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและกำกับดูแลให้เพิ่มมาตรการดูแลให้เข้มข้นขึ้น ป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำขึ้นอีกและให้มั่นใจว่าสถานประกอบการสามารถระงับเหตุได้เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง” นายสุริยะ กล่าว

ขณะเดียวกันหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดปริมาณสารเคมี วัตถุอันตราย และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลสถานประกอบการในอนาคต โดยอาจมีมาตรการให้สต๊อกสารอันตรายในปริมาณแค่เพียงพอกับการใช้ เพื่อไม่ให้เกิดให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุอันตรายตามมา

ส่วนแนวทางการกำจัดสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่ตกค้างอยู่เหลือในพื้นที่โรงงานหมิงตี้ 1,000 ตันนั้น ประสานให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด(มหาชน) เข้ามาดำเนินการย้ายออกไปกำจัดภายใน 3 วัน

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ทาง กรอ. ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสภาพคุณภาพน้ำและอากาศบริเวณใกล้เคียงในระยะ 10 กิโลเมตร จำนวน 14 จุด พบว่ามีสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุบัติเหตุอยู่ในช่วง 0.42-0.83 ppm ซึ่งไม่เกินมาตรฐานตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 20 ppm

ส่วนคุณภาพน้ำไม่พบสารปนเปื้อนในคลองปากน้ำและคลองประเวศบุรีรมย์ จึงสั่งการให้ กรอ. ติดตามสภาพคุณภาพน้ำต่อไปอีก 60 วัน เข้มข้นว่าหลักวิชาการที่ระบุไว้ว่าสารเคมีจะแหล่งน้ำจะสามารถระเหยได้ตามธรรมชาติภายใน 30-45 วัน อย่างไรก็ตาม ขอเตือนให้ประชาชนงดใช้น้ำในคลองเพื่อการอุปโภคบริโภคชั่วคราว

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรอ. กล่าวว่า เมื่อปี 2560 บริษัทหมิงตี้ แจ้งขอขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 40,000 ตันต่อปี ซึ่งกรณีนี้ไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพราะเป็นการขยายกำลังการผลิตภายในพื้นที่เดิม ซึ่งบริษัทได้มีการดำเนินการตามมาตรฐานกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ก่อตั้งโรงงาน

“กรอ.ยืนยันไม่ได้หย่อนยานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงต่างๆ เพื่อความปลอดภัยเป็นประจำ” นายประกอบ กล่าว

โดยตั้งจุดรับเรื่องจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 3 แห่ง ได้แก่ หน้าโรงงานหมิงตี้ สถานีตำรวจบางแก้ว และสำนักงาน อสจ. สมุทรปราการ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนติดต่อแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับการเยียวยาต่อไป โดยบริษัท หมิงตี้ ยืนยันว่าพร้อมจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนทุกคน โดยประชาชนที่ได้รับความเสียหายนำหลักฐานมาแสดงเพื่อขอรับเงินชดเชยตามกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังกองพิสูจน์หลักฐานรวบรวมข้อมูลแล้วเสร็จ น่าจะทราบตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโกดัง 1 หลัง อุปกรณ์สำนักงานทั้งหมดประมาณ 3 ล้านบาท และสารเคมีที่อยู่ในโรงงาน คือ แอลกอฮอล์ประมาณ 70,000 ลิตร ทรัพย์สินอื่นๆ อีก 28 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมีเงินทุนหมุนเวียนอีกประมาณ 20 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน