ฟังคำเตือนจาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แนะ 3 สิ่งทำเร่งด่วน แก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกมหาวิกฤตโควิด กู้เศรษฐกิจ ชี้ “คนรุ่นใหม่” คือหุ้นส่วนประเทศที่เท่าเทียมกันกับ “คนทุกรุ่น”

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 20 สิงหาคม เศรษฐา ทวีสิน ซีอีโอ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมรายการ ข่าวสด – Clubhouse สู่วันใหม่ปลายอุโมงค์ กับ “เศรษฐา ทวีสิน” หนึ่งในไฮไลต์ของมหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญแห่งปี “เฮลท์แคร์ 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน จัดโดยมติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ในเครือมติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดยมี นพเก้า คงสุวรรณ ดวงฤทธิ์ บุนนาค และ ศิโรตม์ คล้ายไพบูลย์ ร่วมพูดคุยและดำเนินรายการ

โดยเศรษฐา กล่าวเริ่มต้นว่า ต้องยอมรับว่าโรคระบาดทำให้รู้สึกเหนื่อยและท้อกับสถานการณ์ปัจจุบันพอสมควร แต่บริษัทยังไปด้วยดี เพราะเป็นบริษัทแรกๆ ที่บริหารจัดการและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่คิดว่าเลวร้าย ซึ่ง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา หนักกันทุกกลุ่ม ต่อให้คนที่มองโลกในแง่ร้ายที่สุดก็ไม่คิดว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ทั้งสภาพการจ้างงานก็อยู่ในแง่ลบพอสมควร ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์การเมืองที่เลวร้ายลงทุกวัน

ภาพรวมสถานการณ์ปีครึ่ง (18 เดือน)

เศรษฐา – “หนักกับทุกกลุ่ม ถามหลายคน ย้อนกลับไป 18 เดือน จนถึงตอนนี้ เราไม่คิดว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ต่อให้มองร้าย ก็ไม่คิดว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ สภาพเศรษฐกิจ สภาพจ้างงาน เหนือความคาดหมายแง่ลบพอสมควร ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์การเมืองที่เลวร้ายลงทุกวัน”

ทำไมถึงต้องควักเงินซื้อวัคซีนช่วยพนักงาน-ลูกค้า-คู่ค้า จุดเริ่มต้นคืออะไร? ทำไมทำขนาดนี้?

เศรษฐา – “เป็นหน้าที่เลยนะครับ เพราะคนที่แข็งแรงกว่า พิสูจน์ให้เห็นว่า แสนสิริแข็งแรง ต้องออกมาช่วย ไม่ใช่เรื่องช่วยหรือไม่ แต่ด้วยธุรกิจเราเองก็ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ไปไม่ได้ ธุรกิจเราก็อยู่ไม่ได้ แต่อย่างที่กล่าวเบื้องต้น ป่วยหลายพัน ตายสองร้าย ขึ้นถึงระบบสาธารณสุขไม่ได้อย่างเป็นธรรม เป็นหน้าที่ของธุรกิจที่แข็งแรงต้องมาช่วย เรื่องของจัดหาเตียง เรื่องของวัคซีน”

เหมาแตงโม-ลำไย ช่วยเกษตรกร? ช่วยเหลือช้าง?

เศรษฐา – อาจมีหลายท่านตั้งคำถามว่า เรื่องพวกนี้สำคัญที่สุดหรือ? สถานการณ์ปัจจุบันในฐานะสงคราม ไม่มีเวลาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลายฝ่าย ใครเดือดร้อน เราไหวก็ไปช่วย แตงโมราคาตกต่ำขนาดนี้ เกษตรกรอยู่ไม่ได้ แต่ต้องไปช่วยพยุงราคา การช่วยช้างที่ได้รับผลกระทบจากขาดรายได้ วันหนึ่งต้องทานเยอะ ไม่มีโชว์ ไม่มีท่องเที่ยว ก็ต้องซื้ออาหารแม้ไม่ค่อยยั่งยืน แต่เรามีที่ก็ไปพัฒนาให้ช้างอยู่ได้ อย่างน้อยปีหน้ากว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาได้

คนที่ชอบเที่ยวไทย มาดูช้าง กินสตรีทฟู้ด ถ้าโควิดหมดแล้วไม่เจอของพวกนี้จะทำยังไง แสนสิริทำอยู่ 7-8 รายการ บริษัทอื่นก็ช่วยกัน ให้ไปต่อได้ เราคิดว่า ช่วยคนอื่นมากกว่า

เป็นการ call out ของนักธุรกิจ? ควรทำพร้อมกันไหม?

เศรษฐา – จะใช้ call out ก็ใช่ แต่เราตะโกนมากกว่า จนเสียงแหบ พูดเป็นการส่วนตัวกับเพื่อนฝูง เขาเข้าใจและช่วยในวงจรเล็กๆที่พอช่วยได้ แคดดี้สนามกอล์ฟได้รับผลกระทบก็ช่วยกัน เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเราจะบอกว่าเราเสียภาษีไปแล้ว รัฐบาลต้องทำ พูดไงก็ถูกอยู่ดี แต่รัฐบาลมีความสามารถพอหรือเปล่า ดูแลทั่วถึงไหม ทั้งนี้ทั้งนั้น คนตัวเล็ก อ่อนแอกว่าก็เหนื่อย อย่าเกี่ยงเลย ออกมาช่วยก่อน ถือเป็นการวิ่งมาราธอน ควรทำงบประมาณตัวเองให้อยูได้นานหน่อย ไม่ใช่แค่ช่วยแล้วจบ นี่ยาวไปอีก3-4 เดือน อย่างวัคซีนก็ไม่มีความชัดเจน

แคมป์คนงานแก้ไขอย่างไร?

เศรษฐา – เป็นอะไรที่ ถ้าติดโควิด บริหารจัดการได้ง่าย เพราะมีพื้นที่จำกัด และเป็นชนต่างชาติ กลับไปเรื่องวัคซีน ต้องมีให้พวกเขา ทราบว่าหลายบริษัทหาวัคซีนให้แรงงานเหล่านี้ ถ้าหาแล้วต้องปล่อย แต่ถ้าจนท.รัฐเชื่อและมีข้อมูลพร้อมว่าเป็นคลัสเตอร์โควิด หน้าที่ของเราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็ต้องปฏิบัติ แต่ถ้าฉีดวัคซีนและพิสูจน์ว่าสามารถปล่อยคนงานได้ ซึ่งอันหนึ่งต้องทำ เพราะเป็นห่วงโซ่ธุรกิจ

ไม่ใช่ฉีดซิโนฟาร์มแต่รวมถึงบูสเตอร์ mRNA

เศรษฐา – ผมคิดอย่างนี้ ผมคิดว่า บูสเตอร์เข็ม 3 ยังไงก็จำเป็น และผมเห็นว่าทางรัฐบาลเองยังไม่มีใครขยับ ตอนที่สั่งจองโมเดอร์น่าและพนักงานเองกังวลเรื่องนี้อยู่ แม้โรคระบาดที่พื้นฐานประชาชนต้องได้ฟรี แต่เรายังไหวก็จ่ายให้เอกชนสั่งซื้อ ผมสั่งไป 6 พันโดสซึ่งเพียงพอกับพนักงานและอาจเหลือให้คู่ค้าเล็กน้อย อยากให้โมเดลกับบริษัทที่ยังไหว ยังหวังพึ่งแต่รัฐบาล อย่างที่พูดมาตลาด 4 เสาที่ค้ำผู้บริหาร คู่ค้า ผู้บริหาร พนักงานและสังคม เราเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ ไตรมาส 4 นี้พนักงานแสนสิริได้รับบูสเตอร์ช็อต

มีการคาดการณ์หลายฝ่ายถึง 100 วันอันตรายที่ติดเชื้อโควิดเดลต้าทั่วประเทศ จะรอดจากการสูญเสียยังไง ด้วยระยะเวลาเท่าไหร่ และเศรษฐกิจฟื้นอีกนานแค่ไหน?

เศรษฐา – ไม่ได้ยากขนาดนั้น ผมว่าก่อนอื่นเลย เราต้องมีความชัดเจนในเรื่องวัคซีน ผมยังเห็นด้วยรัฐบาลถึงวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เร็วที่สุด ถ้าซิโนแวคได้มาก็ฉีดเพื่อบรรเทา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าได้วัคซีนเร็ว 100 วันอันตรายก็ถูกถอดออกไป แต่ที่รัฐบาลเตือน Social Distancing หรือ WFH แต่ยังรวมถึงทานอาหารให้ครบหมู่ ทานอาหารเสริม อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่บรรเทา 100 วันอันตรายให้น้อยลง แต่ปลายปีอาจมีเชื้อกลายพันธุ์อื่น ไม่ใช่เวลาพะวงเข็มหนึ่งเข็มสอง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเตรียมบูสเตอร์ช็อต ถ้ามีเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ถ้าไม่มีวัคซีนสำรอง ก็ไม่พ้นวงจรอุบาทว์นี้ได้ ถ้านายกฯมัวแต่พะวงวัคซีนก็ไม่เหมาะเท่าไหร่ แต่ดูเศรษฐกิจด้วย ถ้าฉีดได้ 65.5% ของประชากรได้ จะเปิดประเทศยังไง สายการบินของไทยจะแข็งแรงพอเป็นสายการบินนำนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ไหม

การกระตุ้นเศรษฐกิจก็สำคัญพอกับวัคซีน อ่านคำสัมภาษณ์ของดร.เศรษฐพุฒิ ที่กู้อีก 1 ล้านล้าน แต่กังวลว่าหนี้สาธารณะสูงไหม แต่ท่านพูดดีว่าถ้าไม่กู้อาจแย่กว่านี้ แต่รมว.คลัง(อาคม)กลับพูดว่าไม่จำเป็นต้องกู้ ก็น่าเศร้าใจ

ถ้ารัฐบาลมีความสามารถพอ ทำพร้อมกันได้?

เศรษฐา – ถ้าอาสาเข้ามา ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่แค่อธิบายแล้วทำไม่ได้ ต้องมีความเป็นผู้นำ การตัดสินใจที่ดีกว่านี้ ไม่ได้บีบรัฐบาล แต่อยากให้ประเทศเดินหน้า ให้คนอ่อนแอแข็งแรง มีงานทำและอยู่อย่างมีความสุข ที่ออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ไม่ชอบนายกฯเป็นการส่วนตัว แต่เชื่อว่าทำได้ดีอีกเยอะ

ผมมั่นใจ ข้าราชการเก่งหลายคน มีอุดมการณ์รักชาติ ต้องการให้ชาติเดินไปข้างหน้า ผู้ใหญ่หลายคนที่ห่วงประเทศชาติ ได้คุยกัน เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพ สาธารณูปโภคทั้งหลายของเรา เหนือกว่าหลายประเทศ อย่าหมดความหวัง แต่เราต้องยอมรับก่อนว่า ยังล้าหลังในการเรื่องแก้ไขปัญหาโควิด อย่าแค่นำเสนอตัวเลขแล้วดูดี แต่ต้องพูดกันให้ความกระจ่างกับประชาชน

ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ เรื่องไหนเสียใจที่สุด

เศรษฐา – อัตราการติดเชื้อและร้านค้าที่ถูกปิดไป แต่ไม่ได้พูดถึงวิธีการเสียชีวิต หลายคนนอนอยู่บ้านนอนรอความตาย คุยกับคนรอก็เสียชีวิตระหว่างคุยก็มี ทุกคนต้องเข้าถึง แต่เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไ แค่คิดถึงภาพรวมนี้ คนที่แข็งแรงไม่ควรนอนหลับอย่างสบาย ต้องเข้าใจว่าหลายคน ผมมีเพื่อนฝูงไปโรงพยาบาล แต่บางคนชีพจรแผ่ว ถ้าได้รับยาก็รอดได้แต่กลับไม่ใช่ หลายคนเจอสภาพแบบนี้ ผมว่าไม่ควรยอมรับได้ แล้วก็ไม่ใช่ว่าเป็นเวลาความผิดใคร คนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจะเป็นคนทุกข์ทรมานที่สุด วันนี้ช่วยได้ช่วย ทำรวดเร็ว ผมก็ถ้าช่วยได้ก็ช่วย ถ้ามีเรื่องก็ช่วย ผมซื้อถังออกซิเจนด้วย ทำด้วยความรวดเร็ว

สมมติว่า วันนี้มีอำนาจรัฐ (พูดตรงๆหรือเป็นนายกฯ) จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร มีแผนเร่งด่วนอะไร ในกรอบ 90 หรือ 180 วัน หรือไม่?

เศรษฐา – มีหลายเรื่องเหลือเกินที่ต้องทำ มี 3 เรื่องอยากให้เรียงตามความสำคัญ 1.เรื่องรัฐธรรมนูญ ยังไงต้องแก้ เป็นอะไรที่ทำให้สังคมไทยพิกลพิการ การที่คนที่มาเป็นนายกฯได้ก็มีเสียงหนุนจาก ส.ว.250 คน ที่ 500 ทำงานให้ประชาชน คนที่เลือกมาทำงานเพื่อใคร นี่คือแก่นสารผู้นำ ต้องเห็นประชาชนเป็นที่ตั้ง เห็นความลำบากยากแค้น

2.เรื่องวัคซีนไม่ต้องพูดถึง จะให้กต. สธ. อภ.ติดต่อกระท่อนกระแท่น ไม่พอ นายกฯต้องยกหูโทรหาผู้นำขอวัคซีน ประเทศไทยยังไงเป็นที่ต้องการในแง่ธุรกิจ คนอยากมาลงทุนธุรกิจ วันนี้นายกฯยกหูคุยกับไบเดน ว่าซื้อสินค้าอะไรก็บอกว่า หรือมีปัญหาก็ยอมซื้อเอฟ-16 แต่แลกกับวัคซีนและต้องมาจริง โดสหนึ่งราคาเท่าไหร่ สมมติโดสละพันบาท ไทยมีประชากร 70 ล้านคน ต้องมีวัคซีน 3 เท่า ก็คือ 2 แสนล้าน ถ้าหากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ล้านล้าน แค่ 6% เอง จีนก็อยากขายรถไฟ ขายอุปภรณ์ ก็ซื้อก็ได้แต่พ่วงวัคซีนด้วย เราตั้งสมมติฐานว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนเร็วที่สุด การใช้ภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องเล่นทั้งจีนและสหรัฐฯ ส่งมอบวัคซีนให้เรา เป็นหน้าที่สูงสุดของนายกฯ เป็นภารกิจที่ต้องทำ ไม่ใช่สั่งให้หน่วยงาน ก.ข.ไปทำ

3. ต้องทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพราะไม่เคยสาหัสากรรจ์ขนาดนี้ คนตายขนาดนี้ ถ้าไม่มีแผนแล้วหลุดจากโควิด เราจะล้าหลัง ไม่สามารถอยู่ในการค้าโลกได้ ธุรกิจสนับสนุน ผมเศรษฐาสนับสนุนให้เรื่องนี้ไปได้

ความเหลื่อมล้ำ มองไทยไปถึงจุดไหนแล้ว?

เศรษฐา – กลับไปเรื่องรัฐธรรมนูญนี่แหละ คน 250 คนมีสิทธิ์มากกว่า ยืนยันนะ ส.ว.ไม่ใช่คนไม่ดี แต่ที่มาไม่ใช่ นี่เป็นต้นตอความเหลื่อมล้ำ คน 28 ล้านคนเลือก 500 คน แต่ 1 คนเลือก 250 คน ส่งผลแย่ทุกมุม วีไอพีแย่งวัคซีน อันนี้เป็นความพิกลพิการของสังคมไทย เป็นสิ่งที่ไม่ควรยอมรับและต้องแก้ เป็นอะไรที่หลังจากที่วิกฤตนี้ผ่านไป ความเหลื่อมล้ำ จะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถ้าถ่างมากขึ้น จะอยู่กันยังไง

การกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องใช้เงิน รัฐบาลจะหาได้จากไหน รายได้หลักคือภาษี คนจ่ายมากที่สุด ก็ต้องปรับฐานภาษีให้คนรวย ผมอาจถูกต่อว่าจากเพื่อนฝูง แต่ผมยืนยันว่าคนที่แข็งแรง ภาษีเยอะก็ต้องจ่าย อย่าลืมว่าจ่ายภาษีเมื่อมีรายได้ อย่าไปเก็บตอนที่เขาไม่มีรายได้ ภาษีเป็นรายได้การคลังนำมาซึ่งความเสมอภาคของชนทุกชั้น เป็นอะไรที่ผมอยากจะเรียกร้อง อย่ามีการต่อต้าน อยากให้ทุกคนรับฟังด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เพราะหลังวิกฤตนี้ ประเทศไทยเราต้องการงบประมาณมากขึ้น ต้องมีการเก็บภาษี อย่าให้คนอ่อนแอหรือรายได้น้อยต้องทุกข์ทน คนที่เสียสละคือคนที่ฐานบน

การเยียวยาที่รัฐบาลทำหลายรอบ ตรงจุดหรือยัง?

เศรษฐา – ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด ทำไปเยอะมาและทำไปเหมือนกันช็อตๆไป พูดแล้วหาว่าต่อว่ารัฐบาล แต่เหมือนให้แบบยาเสพติด ไม่มีอะไรที่ต่อเนื่อง หรือทำให้ประชาชนวางแผนกับการเยียวยาได้ จะให้อะไรต้องชัดเจน ไม่ใช่แค่เดือนเดียวหมด นอนก่ายหน้าผาก เป็นวิธีการที่ให้คนเสพติดกับการแบมือขอ เป็นเกมส์การเมือง อาจช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ไม่ได้บอกว่าชิมช็อปใช้ไม่ดี แต่พูดถึงภาพรวม มีหลายประเทศพอเกิดโควิดก็ประกาศระยะยาว อุดหนุนท่องเที่ยวเป็นเวลา 6 เดือน อย่างน้อยอุ่นใจ แล้วอย่าลืมว่าบางอันไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือโควิด แต่การที่ธุรกิจหลายอันต้องหยุดไป ธุรกรรมที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ในกรุงเทพก็มีหลายภาคส่วนกลับไปต่างจังหวัด พื้นฐานคือเกษตรกรรม อาจกลับไปทำเกษตรกรรมต่อ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง อยู่พรรคอะไรก็เรียกนโยบายอะไรแบบนั้น แต่เงินต้องเข้าสู่กระเป๋าเกษตรกรได้เยอะ สามารถให้พวกเขาดำรงชีวิตต่อได้

การเมืองบนท้องถนน ที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ ในฐานะพ่อมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นลูกหลานยังไง ต่างกับรุ่นเรายังไง

เศรษฐา – ยอมรับว่าคำถามที่ยาก และตอบไปแล้วคงไม่ทำให้ทุกคนพอใจ แต่ขอเริ่มว่า ปีหน้าผมจะ 60 แล้วผ่านวิกฤตอะไรเยอะมาก อย่างหนึ่งที่คนรุ่นอย่างเราต้องสำนึกคือว่า การเปลี่ยนแปลงของโลก ยังไงต้องเปลี่ยน ต้านไม่อยู่หรอก ไม่ว่าการเป็นดิจิตัล การเปลี่ยนที่อยู่อาศัย การใช้บริการ เงินคริปโต ฟู้ดเดลิเวอรี่ หลายธุรกิจไม่สามารถปรับตัว อันนี้ต้องสอนคนรุ่นลูกหลาน ว่าคนเราเรื่องการเปลี่ยนแปลง มีอยู่แล้ว เรื่องการยอมรับการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่ต้องเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าแบบนี้ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับก็เหนื่อย ก็จะถึงขั้นปฏิวัติขึ้น มีการเสียเลือดเนื้อมาก วันนี้ต้องหันหน้าเข้าหากัน รับฟังการพูดคุยด้วยวาจาที่สุภาพ ภายใต้กรอบกฎหมาย ประเทศนี้มีหลายรุ่น รักใครชอบใคร ต้องพูดกันด้วยเหตุผล อย่าเอาสะใจ ถ้าเกิดเป็นที่ฉลาดๆ ควรรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ใช้เวทีต่างๆ หันหน้าเข้าหากัน ทำให้คนเดือดร้อนน้อยที่้สุด

การใช้กำลังทั้งสองฝ่าย ผมไม่เห็นด้วย ไม่ต้องเป็นลูกเราลูกเขา บาดเจ็บมันบีบหัวใจ เราอยู่ในสงครามกับโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อน มาเจอเด็ก 15 ถูกยิง การมีความประสงค์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องรับฟัง ค่อยๆเป็นค่อยไปๆ

ผมกำลังบอกถึงผู้ใหญ่ด้วย บางคนเรื่องเทคโนโลยีก็เข้าไม่ถึง ก็จะเฉา วันนี้ผู้ใหญ่ต้องรับฟัง อะไรที่ให้ได้ก็ให้ไปเหอะ อย่าคิดอะไรเป็นการเมือง ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ให้ได้ก็ต้องให้ไป

อะไรที่ต้องเปลี่ยนเร่งด่วน?

เศรษฐา – รัฐธรรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งถ้าเกิดคนกลุ่มหนึ่ง ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลปัจจุบัน อยากเห็นผู้มีอำนาจ จริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ เป็นการดับไฟ อะไรที่ชัดเจนว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตย นำไปสู่ความไม่เสมอภาค ทำได้ทำเลย

พี่นิดถึงคนรุ่นใหญ่ด้วยกัน ต่อเด็กที่มีความฝันและอยากเปลี่ยนแปลง

เศรษฐา – ถ้าเกิดมองคนรุ่นใหม่เป็นศัตรูก็ผิดแล้ว มองว่าถูกล้างสมอง เริ่มต้นผิดก็พลาดแล้ว ต้องโอบรับ จริงใจในการรับฟัง เป็นคนๆหนึ่งลูกหลานเพื่อนคุณเหมือนกันที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคต อย่ามองว่าเป็นคนไร้สาระหรือถูกปั่นหัวมา ถ้ามองแบบนั้นก็ใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าเกิดพวกเขาพูดจาไม่เหมาะสมก็ว่ากันไป อย่าไปมีธงว่าถูกจ้างมา ให้มองว่ามีธงที่จะให้ประเทศเปลี่ยนแปลง รวมใจเป็นหนึ่งเพื่อพัฒนาประเทศ ประเทศเราบอบช้ำเยอะ ถ้าจุดเริ่มต้นก็ฟังก็ไม่ได้แล้ว แล้วจะสนทนากันอย่างไร

รับฟังจริงๆ อย่าจัดฉาก มีขั้นตอน กรอบเวลาชัดเจน จะทำอะไร ตกลงได้แค่ไหน ไม่ใช่หลอกเขาว่าทำแบบนั้น แล้วอ้างว่าทำไมทำไม่ได้ ถ้าเกิดเบาๆทั้งสองฝ่ายก็ไปได้ อย่ากล่าวหาว่าไม่รักประเทศ เราเป็นผู้ใหญ่ ต้องเข้าใจและให้อภัยพวกเขามากกว่า เราต้องฉลาดกว่าที่จะรับมือเขาให้อยู่ในกระแสหลักของสังคมได้ ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจ 100% แม้ส่วนหนึ่งเด็กก็มีปัญหาที่พูดจาก้าวร้าว ก็ขอโทษด้วยถ้าพูดจาอะไรชัดเจนทั้งเด็กหรือพี่ป้าน้าอา แค่อยากให้มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาประเทศ”

ทั้งนี้ ช่วงถามตอบ มีการเปิดให้ผู้ร่วมรับฟังทั่วไปในคลับเฮาส์ ร่วมสอบถามและพูดคุยเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง

“ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” – ควรมีการคุยกันทุกฝ่าย แต่ช่วงที่ผ่านมา มีคนพูดแบบคุณเศรษฐา แต่ความจริงคือ โอกาสที่จะคุยกันแทบไม่มี คนที่มีอำนาจสูงสุดมีวาระชัดเจนและยกระดับความรุนแรง จะดึงคนมาหันมาคุยกันยังไง

เศรษฐา – อย่างตอนนี้ ที่เราคุยกันก็เป็นนิมิตรหมายที่ดี ถ้านายกฯหรือผู้ช่วยฟังอยู่ การใช้กำลังกันนี่ ไม่นำไปสู่ทางแก้ถาวร ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นเลย ผมเชื่อว่า นี่เป็นเวทีที่เราช่วยกันพูดตลอดเวลา แต่การใช้กำลังไปใช้กำลังกลับ ไม่ใช่ทางแก้

  • สภาพแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?

เศรษฐา – ผมได้คุยกับผู้ใหญ่ เราเห็นตรงกันคือรัฐล้มเหลว (Failed State De Facto) ล้มเหลวจริงๆ ทั้งบริหารจัดการวัคซีนหรือหลายอย่าง เป็นอะไรที่เราไม่คาดคิดว่าจะมาอยู่ถึงที่นี่ แม้ผมช่วยอะไรเล็กๆน้อยๆ แต่เป็นโอกาสที่ช่วยพยุง ไม่รู้อีกนานแค่ไหน ทั้งหาเตียงไอซียู ช่วยเหลือเกษตรกร ต้องทำไปก่อน เราไม่เห็นเลยว่าจะจบลงยังไง รัฐธรรมนูญพิกลพิการนี้ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ วันนี้ก็ช่วยคนอ่อนแอไปก่อน พรุ่งนี้ทำงานเหมือนเดิม สู้ต่อไป ให้กำลังใจคนอ่อนแอต่อไป ไม่ใช่ทางแก้อื่นเลย

“ดวงฤทธิ์ บุนนาค” – ประเทศนี้ไม่ได้บริหารจัดการ แต่ปล่อยเกียร์ว่างไหลไปเรื่อย จนถึงโค้งอันตราย ต้องมีคนขับที่มีทักษะสูง ผมไม่เห็นว่าคนขับคนนี้พารอดจากหุบเหว แต่เราในฐานะนักธุรกิจ มีอะไรที่เราทำได้บ้าง?

เศรษฐา – มี 2-3 ประเด็นที่จะพูด นี่คื่อวิกฤตศรัทธา ทั้งระบบ ทั้งคนขับ ผมก็ต้องถามกลับไปว่า ถ้าไม่ใช่คนขับคนนี้ แล้วไปคนไหนที่สามารถขับแทนได้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญยังพิกลพิการอยู่ สู่วันใหม่ปลายอุโมงค์ ผมเห็นคำนี้ตั้งโจทย์ยากมาก ผมอยากมาเสนอทางแก้ ไม่ใช่เอะอะมาติ แต่ต้องเสนอทางแก้ ตอนนี้เป็นการวิ่งมาราธอน ต้องอยู่ให้ได้ ให้กำลังใจคนรอบข้าง ต้องเห็นใจไว้ก่อน ก็คงดีขึ้นเอง ผมไม่อยากพูดคำนี้ออกมาว่า ค่อนข้างหนักหนาสาหัส

หลายอย่างที่ไปพูดไป ก็สนับสนุนอยู่ว่า สู่วันใหม่ปลายอุโมงค์ยังมืดมนอยู่ สรุปคือ นายกฯต้องออกไป วันนี้เรียกร้องดีกว่า ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเถอะ ให้ใช้ภูมิรัฐศาสตร์นำวัคซีนเข้ามาให้เร็วที่สุด ผมเชื่อว่าระบบสาธารณสุขสามารระดมฉีดได้ แต่เราไม่มีของ วัคซีนเป็นอะไรที่สำคัญที่สุด อย่างน้อยกำหนดได้ ก็รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง

  • ถามถึงหนี้เสีย 2 ล้านล้าน กังวลไหม?

เศรษฐา – กังวลมาก ถ้าเปรียเทียบ หลายคนอาจไม่เคยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตธนาคาร พอธนาคารล่ม ธุรกิจพังหมด แต่ตอนนี้ เราโชคดีที่ธนาคารหลักแข็งแกร่งเป็นจักรกลพยุงเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นหนี้เสีย เป็นเรื่องระบบบัญชี ผมใช้คำว่า บริหารจัดการได้ดีกว่า ไม่ให้น่ากลัวเกินไป ธนาคารจะเป็นตัวกู้วิกฤตหลังโควิดพ้นไป ซึ่งต้องฝากความหวังไว้พอสมควร

เมื่อมีผู้ถามถึงการลงสู่สนามการเมือง สมมติว่ามีคนเชิญเข้าร่วมพรรค?

เศรษฐา – ขอเรียนอย่างนี้ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งทรงเกียรติ คนที่จะมา ต้องมีความพร้อม ไม่ว่าการตัดสินใจ การเห็นหัวคน การประสานงานทุกฝ่าย และที่สำคัญต้องเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ตอนนี้ผมมีความพอใจในสิ่งที่ทำ ผมมีขีดจำกัด ไม่มีความทะเยอทะยาน สิ่งที่ผมทำจะพอช่วยประเทศชาติ ปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นอะไรที่สามารถทำได้ในขีดความสามารถที่มี เราเองต้องมีความเข้าใจตัวเองว่าเรายังไม่เหมา่ะสม อยากช่วยชาติไหม อยากช่วย และอยากให้กำลังใจนายกฯ อยากให้คำแนะนำ ไม่ได้มีความทะเยอทะยานไปถึงจุดนั้น

“ผมพอใจกับชีวิตตัวเองที่มีอยู่ บริษัทตัวเองก็เหนื่อยแล้ว เรียนตามตรงว่า มีการคิดเสมอว่า เราได้ช่วยคนอื่นบ้างหรือเปล่า ถ้าคิดได้แค่นี้ ก็ช่วยชาติได้อย่างหนึ่ง ไม่ต้องใฝ่สูง ถือว่าเป็นคำขอบคุณ ตอนนี้ไม่ใช่แน่นอน ผมยังไม่สามารถทำหน้าที่นายกฯของประเทศไทยได้ เพราะต้องแบกภาระประชาชน 70 ล้านคน ถ้าทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่เราพัง ทั้งประเทศพัง คนที่เล่นการเมือง มีหลายท่านที่ยังเสนอตัวเป็นนายกฯ แล้วไม่ใช่จะเป็นใครก็ได้ มันไม่ง่ายขนาดนั้น แต่เรายินดีจะช่วย ไม่ใช่เวลานี้แน่นอน” เศรษฐา ระบุ

เมื่อมีผู้ถามถึงเด็กก็เป็นหุ้นส่วนประเทศ แทนที่มองเป็นศัตรู ถ้ามีโอกาสพูดกับนายกฯให้เปลี่ยนวิธีคิด จะพูดยังไง?

เศรษฐา -ผมว่าขอแถมอีกนิด เป็นหุ้นส่วนประเทศที่มีความเป็นเจ้าของที่เท่าเทียม การที่เป็นพลเอกไม่ใช่เป็นเจ้าของคนเดียว ตำแหน่งนายกฯเป็นตำแหน่งที่รับฟังทุกภาคส่วน แม้จะไม่อยากได้ยินก็ตามที ผมใช้คำว่า แม้ผู้ใหญ่หลายคนไม่อยากได้ยินในสิ่งที่ไม่อยากได้ยิน แต่นี่เป็นเสียงที่ทำให้คุณเป็นวีรบุรุษ ถ้ายังคิดว่าคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่ถูกจ้าง เครื่องมือทางการเมือง จะแก้ปัญหาไม่ได้

กับคำถามที่ถามว่า ตอนนี้การแก้ไขแทบทุกอย่าง กรุงเทพต้องมาก่อน ในขณะที่จังหวัดใหญ่อย่างเชียงใหม่ รู้สึกเหมือนเป็นเมืองบริวาร ในฐานะผู้บริหารแสนสิริ ที่มีโครงการในถนนย่านดัง ถ้าเราจะต้องคิดอะไรซักอย่างเพื่อจังหวัดอื่น เราต้องมีแนวทางอย่างไร เพราะเส้นนิมมานฯธุรกิจเลยครึ่งปิดตัว ถ้ากลับมา จะทำยังไงเชียงใหม่กลับมามีชีวิตบ้าง

เศรษฐา – ถ้าภาพปัจจุบันจะเป็นภาพที่ลวงตาบ้าง โควิดทำให้ถนนดังของเชียงใหม่ดับสนิท แต่ผมเข้าใจความรู้สึก เวลาพูดกับฝรั่งว่า กรุงเทพฯคือประเทศไทย ทั้งที่เรามี 70 จังหวัดที่ควรเสมอภาคในการพัฒนาให้เจริญขึ้นมา เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่และศูนย์กลางการท่องเที่ยว ถ้าเกิดกลับมา เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ต้องโปรโมตเพิ่มขึ้น ให้นักท่องเที่ยวอยู่ระยะยาว ซึ่งต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง เรื่องมลพิษก็ต้องบริหารจัดการด้วย ผมเองไม่ได้ศึกษาจริงจังมาก แต่ถ้าพูดก็ต้องพัฒนาท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวอยู่นาน

ปีนี้เป็นปีปัญหาชาวเกษตรกรโดยเฉพาะลำไยราคาตกต่ำ ที่เชียงรายก็ปลูกยางพาราตอนนี้กิโลละ 37 บาท อยากถามว่าจะแก้ไขยังไง ให้มีการควบคุมราคาหรือส่งออกที่ดี หรือยังไงให้ยั่งยืนกว่านี้

เศรษฐา – เจอคำถามนี้เข้าไป ยิ่งเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าทำไมไม่เหมาะสมกับเป็นนายกฯ คือเป็นอะไรที่สะท้อนจากความรู้สึกจากเกษตรกร และเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่หลวง เช่น ราคายางพารา ไม่นึกว่าจะตกต่ำขนาดนี้ ลำไยก็เป็นอีกเรื่อง ระยะสั้นต้องมีการแทรกแซงราคา สหรัฐฯก็แทรกแซงใยฝ้าย แต่เกษตรแปรรูปเป็นทางแก้ระยะยาว เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลควรทำ ส่วนพืชผลที่ต้องดูแลรักษา มีอีกเยอะแยะ ก็ไม่แน่ใจว่ากระทรวเกษตรฯมีทางแก้ยังไง อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว เชื่อว่าการประกันราคา จำนำ เป็นสิงที่สำคัญที่ให้มั่นใจว่าเกษตรกรได้รับราคาที่เหมาะสม

เมื่อมีคนถึงวิกฤตของ OTOP ที่ตอนนี้กำลังจะตาย และ SMEs ก็ตาย เหลือแต่สินค้าเกษตรที่ถูกกดราคา ทำอย่างไรให้อาชีพเหล่านี้กลับมาฟื้นได้

เศรษฐา – ดูว่าพรรคไหนจัดการเรื่อง OTOP ก็เลือกเขากลับมา

พูดถึงภาษีเป็นเครื่องมือนำความเสมอภาคให้ชนทุกชั้น ถ้ากรณี BLM คนขาวพูดกับคนขาวด้วยกันว่าจะแก้ไขปัญหาคนผิวสียังไง อยากถามว่าทำไมคุณเศรษฐาถึงมองเห็นเรื่องภาษี

เศรษฐา – ถ้าเกิดว่าเราเลือกจะไม่มอง มันเห็นชัดอยู่แล้ว อย่าสุขกายสบายใจกับสิ่งที่มีอยู่ ผมมีความสุขกับคนที่อยู่รอบข้างที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เรากินอย่าง คนอื่นกินอีกอย่าง หรือเราอยู่ดีแต่รอบข้างเป็นสลัมจะอยู่กันยังไง ถ้าเกิดเห็นถึงความไม่ชอบธรรมต่างๆนานา เราก็ไม่มีความสุข เรื่องภาษีจริงๆ แล้วคนที่มีรายได้เยอะคือใช้ทรัพยากรประเทศเยอะ ผมสร้างบ้าน ใช้ถนนขนดินจนถนนทรุด เป็นสามัญสำนึกอย่างหนึ่ง ถ้าเราจะอยู่ด้วยกันบนบรรทัดฐานที่เท่าเทียม เป็นความสุขที่ยั่งยืนมากกว่า

โครงการ Backyard สุขุมวิท 37 เรามีเด็กแถวนั้นมาทัศนศึกษา เรามีอีกที่คือหัวหิน ถ้าไม่นับตามโครงการที่เรามีอยู่ 2-300 โครงการ ปลูกผักตามดาดฟ้า แต่ตอนนี้เราปลูกกระชายขาว ฟ้าทะลายโจรมากกว่า

ส่วนเรื่องการดูแลสุขภาพ ก็ใช้ธรรมชาติบำบัด เชื่อเรื่องของการใช้วิตามิน อาหารเสริม วัคซีนถ้าฉีดแล้วติดยากขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำลง แต่เรื่องออกกำลังกาย ทานอาหารครบทุกหมู่ก็สำคัญ การทานวิตามินซี ซิงค์ แคลเซียม ทำให้ลดอัตราการติดเชื้อได้เยอะ ผมเองก็ได้มีการคุยกับพนักงานที่เราต้องดูแลตัวเองในช่วงภาวะวิกฤต

ปีนี้ไทยอาจตกที่ 7 แม้มีเศรษฐกิจใหญ่ในอาเซียน การพัฒนาประชาธิปไตยก็ตกลง

เศรษฐา – ผมคงไม่แย้ง เป็นอะไรที่ชัดเจนอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของภูมิหลังของนายกฯที่เป็นทหาร ที่มีความเชื่อมั่นในระบบราชการ ใช้ข้าราชการเป็นตัวขับเคลื่อนหรือสอบถามไปที่สภาอุตฯ สมาคมธนาคาร ไม่อยากใช้ว่ายันต์ แต่เป็นตัวขับเคลื่อน แต่พอเป็นประยุทธ์ ภาคเอกชนมีบทบาทน้อยลง การขอความเห็นกับเอกชน เรียนตามตรงว่า ผมไม่ได้รับเชิญร่วมกับ 40 ซีอีโอ ผมคิดว่าท่านทำไปอย่างนั้น เอกชนก็ทราบ อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า วิกฤตขนาดใหญ่ ประเทศขับเคลื่อนด้วยเอกชนเป็นหลัก เอกชนใกล้ชิดกับประชาชน มีข้อคิดเห็นที่ไม่อยากให้นายกฯมองว่าเอาแต่ประโยชน์ตลอดเวลา

นี่เป็นช่องทางที่ปัจจุบันเอกชนทำ เรามีเพื่อนฝูง เรามีความกังวลและถ่ายทอดให้ผู้มีอำนาจ ผมเชื่อว่าเพื่อนฝูงได้มีการถ่ายทอดไปแต่ว่า พูดไปก็หายไป อาจเป็นการตั้งการ์ดว่ามีผลประโยชน์อะไรไหม ผู้นำต้องได้ยินในสิ่งที่ไม่อยากได้ยินบ้าง

เมื่อมีคนถามว่าจะพัฒนา “กรุงเทพฯ” อย่างไร? ยังขยายต่อได้อีกไหม คิดว่าจังหวัดไหมเหมาะพัฒนาเมือง

เศรษฐา – ถามกันเยอะมาก มันไม่สามารถรวมเป็นจุดเดียว แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข ก็เห็นความแออัดของที่อยู่อาศัยมาก ถ้าเกิดมีโรคระบาดใหม่อีก การจัดการที่อยู่อาศัยนี่เป็นปัญหาที่โรคระบาดหนักมากขึ้น เรื่องการจราจร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาเยอะมาก คงไม่มีอะไรเป็นทางออกทางเดียว ไม่ใช่แค่หนึ่งปัญหา แต่หลายปัญหา ปัญหาที่อยู่อาศัย ทำให้คนหนึ่งไม่น่าอยู่เท่าไหร่ ถ้าติดเชื้อก็จะลามไปมากมาย

อยากให้การกระจายความเจริญออกไป หลายจังหวัดยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง ไม่มีการสร้างงาน ผมไม่อยากบอกว่าจังหวัดไหน อยากให้ทุกจังหวัดได้รับการพัฒนา กรุงเทพฯยังขยายใหญ่ได้อีก ผังเมืองเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอด เรื่องนิวนอร์มัล เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งพื้นฐานจำเป็นอยู่ การทำที่อยู่อาศัยตอนนี้ในพื้นที่ 100 ตารางวา แต่ราคาที่ดินตอนนี้ ทำให้คนเข้าถึงยาก อยากข้อร้องผู้เกี่ยวข้องทำผังเมืองขึ้นมาให้ได้สัดส่วนและราคาที่ให้คนสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้

แชร์ประสบการณ์พบเศรษฐา

เศรษฐา – บทสนทนาวันนั้น เราในฐานะคนทำงานระดับอาวุโส มีความต้องการระหว่างแสนสิริกับเรา บางอย่างมีข้อเสนอขอทางเรามา อาจดูว่าทำยาก แต่คุณนิดพูดว่าเอาพอดีๆดีกว่า ไม่ต้องบังคับ จำไว้ว่าจะทำงานกับใครก็ต้องทำงานกับคนที่เห็นหัวเรา

ช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ห่างมากขึ้น สาเหตุมาจากอะไรในมุมมองของคุณเศรษฐา ระหว่างโควิดกับผู้บริหารจัดการ

เศรษฐา – คนที่ชนะคือได้หมด Winner take all ไม่ต้องคำนึงถึงคนอยู่ข้างล่าง เป็น mentality ที่ผู้นำหลา่ยประเทศนำมาเป็นปรัชญาดำรงชีพ ปัญหานี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ทำให้คนใหญ่ใหญ่ขึ้นไปอีก สำเร็จก็สำเร็จขึ้นไปอีก คนอยู่ฐานล่างถูกกดลง ช่องว่างยิ่งห่าง พอมีโควิดซ้ำอีก คนอยู่ฐานล่างอาจตกงาน ลดเงินเดือน อย่างผมไม่เดือดร้อน แต่คนอื่นเดือนร้อน โควิดกระตุ้นให้เหลื่อมล้ำมากขึ้น ผู้มีอำนาจะทำยังไง ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องให้ความเสมอภาคกับคน คนถูกลิดรอนสิทธินั้นเหมาะสมไหม ข้อเสนอภาษีที่ผมพูดไป จริงๆอาจนำมาซึ่งความเสมอภาคแต่ช่องว่างลดลง ต้องใช้เวลารักษาพอสมควร

หลังวิกฤตโควิด “ชนชั้นกลาง” จะทำอย่างไร?

เศรษฐา – ภาครัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีเงินต้องกู้ก่อน ดูแลภาษีที่ใช้เขาทีหลัง ผมว่าระบบราชการเป็นภาคส่วนสำคัญในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ผมเชื่อว่าข้าราชการไทยมีความสามารถสูง มีเจ้าหน้าที่จบจากต่างประเทศ ผมเชื่อว่าวิธีการทำงานหรือกรอบที่เขียนขึ้นมา ทำให้การตัดสินใจ ความเร่งรัดออกมาตรการช้าลง ไม่ใช่ความผิดพวกเขา แต่เป็นระบบ การปฏิรูประบบราชการต้องเกิดขึ้นให้เร็ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน ถ้าช้าไม่ทันการ แต่ก็มีคนแย้งเรื่องการตรวจสอบ ความโปร่งใส ซึ่งเราต้องคำนึงถึงด้วยเหมือนกัน

ส่งท้ายสั้นๆ ให้ประชาชนมีความหวังในวันพรุ่งนี้

เศรษฐา – ผมเชื่อว่าในสังคมไทย เรามีจิตใจโอบอ้อมอารี เห็นใจผู้เดือดร้อน คนที่อ่อนแอกว่า ไม่มีโอกาสไหนแล้ว ที่ผมเกิดมา เราทุกคนต้องการความช่วยเหลือ นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ตะโกนว่าคนที่แข็งแรงกว่าออกมาช่วยคนอ่อนแอโดยเร็ว อย่ามัวเกี่ยงงอนเป็นหน้าที่รัฐบาล หน่วยงานรัฐ เราในฐานะคนแข็งแรงกว่า นำเสนอความหวังให้คนอ่อนแอ นี่เป็นความหวังที่ผมฝากคนที่สามารรถนำความหวังให้คนที่อ่อนแอกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน