ศบค.เผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด ‘โอมิครอน’ สะสม 5,397 ราย กระจาย 71 จังหวัดทั่วประเทศ ผู้ป่วยนำเข้าพุ่งถึง 412 ราย ชลบุรี ยังแชมป์ป่วยสูงสุด

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมณี วัชระสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อวันนี้จะเริ่มรายงานเป็นระลอกของเดือนมกราคม 2565 โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อวันนี้ 7,926 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,612 ราย ผู้เสียชีวิต 13 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 58,159 อาการหนัก 495 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 115 ราย

จะเห็นว่ายอดผู้หายป่วยน้อยกว่าจำนวนผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 13 ราย แบ่งเป็น เพศชาย 4 ราย เพศหญิง 9 ราย อายุ 30-89 ปี ทั้งหมดเป็นกลุ่มเสี่ยงคือเป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีและมีโรคเรื้อรัง โดยมี 10 รายไม่ได้รับวัคซีนเลยหรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบโดส

พญ.สุมณี กล่าวต่อว่า ส่วนสัดส่วนการตรวจ Antigen test kit (ATK) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ตรวจจำนวน 52,329 ราย พบผลบวก 1,262 ราย คิดเป็น 1.23 % โดยผลบวกจากการตรวจ ATK มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ มีรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับการจำแนกสายพันธุ์เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ ขณะนี้ผลจากการสุ่มตรวจกลายพันธ์ พบสายพันธุ์โอมิครอน 5,397 ราย กระจาย 71 จังหวัดทั่วประเทศ และตั้งแต่เดือนพ.ย.64 – วันที่ 9 ม.ค.65 พบสัดส่วนเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 64.71% โอมิครอน 35.17% ส่วนที่เหลือเป็นอัลฟ่า 0.10% และเบต้า 0.03%

พญ.สุมณี กล่าวว่า การพิจารณาสุ่มตรวจรายสัปดาห์วันที่ 2-8 ม.ค. พบสัดส่วนโอมิครอน 70.3 % เดลต้า 29.7 % ถ้าพิจารณาเป็นรายสัปดาห์การแพร่กระจายของสายพันธุ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ล่าสุด พบโอมิครอน 91.3% เป็นการสุ่มตรวจจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่โอมิครอนในประเทศ พบ 57.9%

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่รายงานวันนี้จำนวน 412 ราย พบว่า 61% เป็นนักเที่ยวระบบ Test&Go 36 % ระบบ Sandbox และ Quarantine อีก 3% จากการวิเคราะห์ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้จะมีจำนวนลดลงแต่สัดส่วนของการติดเชื้อกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

พญ.สุมณี กล่าวอีกว่า กรณีที่พบว่ามีการติดเชื้อ ควรรีบแยกกักตัวเองออกจากผู้อื่น เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้รีบแยกตัวเองและสังเกตว่ามีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือไม่ โดยสายพันธุ์โอมิครอน อาการไข้จะไม่มากเหมือนสายพันธุ์เดลต้า

ดังนั้น หากมีอาการทางเดินหายใจแม้ไม่มีไข้ แต่ไปสถานที่เสี่ยง ควรรีบตรวจเช็กตัวเองด้วย ATK เพราะเป็นข้อแนะนำในการตรวจคัดกรองหลัก และหากพบผลเป็นบวก ต้องเข้าสู่ระบบการแยกกักรักษาที่บ้าน หรือเข้าสู่ระบบการรักษาดูแลในชุมชน

พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อประจำวันจะเห็นว่าไต่อยู่ในระดับกราฟเส้นสีเทาแล้ว หากขึ้นไปตามเส้นกราฟสีเทาเรื่อยๆ คาดว่าช่วงปลายเดือนมกราคม จะมีผู้ติดเชื้อระดับ 2หมื่นกว่าราย/วัน และช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะแตะที่ 3 หมื่นราย/วัน

ส่วนการเสียชีวิต ยังเป็นไปแนวเดียวกันกับสถานการณ์โลก แต่การที่มีแนวโน้มผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทางศบค.และกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมยกระดับการจัดการไว้แล้ว จะต่างจากการระบาดหนักในระลอกเดือนเมษายน 2564 เพราะขณะนั้นประชาชนยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุม

พญ.สุมณี กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดที่ต้องเตรียมพร้อมคือจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยมีแนวทางว่าหากผลตรวจ ATK เป็นบวก และมีอาการน้อย เน้นการกักตัวรักษาที่บ้าน-ชุมชน แต่ถ้าผลเป็นบวก และมีอาการหนักหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง พิจารณาตามเกณฑ์ส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยเด็กกลุ่ม 5-11 ปี ได้เตรียมยาต้านไวรัสชนิดน้ำ จัดผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาในการดูแลเด็ก เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับอาการโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่ ไม่มีอาการ 48% ส่วนอาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย 41 ราย 1.อาการไอ 54% 2.เจ็บคอ 37% 3. มีไข้ 29% 4.ปวดกล้ามเนื้อ 15% 5.มีน้ำมูก 12% 6.ปวดศีรษะ 10% 7.หายใจลำบาก 5% 8.ได้กลิ่นลดลง 2%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน