กรมควบคุมโรค เตรียมประกาศ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ด้วยเหตุผล 3 ข้อ เชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกัน และ ชะลอการระบาดได้ดี

วันที่ 10 มกราคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า แผนรับมือการระบาดโรค โควิด-19 ของประเทศไทยนั้น เราสู้กันมา 3 ปี ในปีแรกที่โรคเข้ามาคิดว่าน่าจะเหมือนไข้หวัดนก โรคซาร์ส เราสู้กันสักพัก และสามารถลดเคสได้รวดเร็ว

แต่เนื่องจากระบาดทั่วโลกที่วนไปมา จึงกลับเข้ามาอีกที โดยเข้ามาหนักในปี 2564 ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. และหนักมากในเดือน ก.ย. จึงต้องมีมาตรการต่างๆ หลังจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้การติดเชื้อลดน้อยลง สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้โรคบรรเทาลง จนเราเปิดประเทศด้วยแผนอยู่กับโควิด (living with Covid-19) เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

แต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ด้วยเชื้อ โอมิครอน ที่ความรุนแรงน้อย อัตราตายต่ำแต่เชื้อแพร่ได้เร็ว ทางกรมควบคุมโรค จึงพิจารณาว่าเตรียมให้การระบาดครั้งนี้เข้าสู่ โรคประจำถิ่น (Endemic) ได้แล้ว เนื่องจาก 1.เชื้อลดความรุนแรง 2.ประชาชนร่วมมือฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี 3.การบริหารจัดการ ดูแลรักษา และการชะลอการระบาดได้อย่างดี

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ปี 2565 คือ การชะลอการแพร่ระบาด การติดเชื้อไม่น่ากลัว แต่เรากลัวการแพร่ระบาดที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้ล้นโหลดระบบสาธารณสุข หรือเกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้อีก ดังนั้น เราต้องชะลอการระบาด และค่อยๆ รับมือ อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง เราก็จะวางมาตรการดูแลในการแพทย์ การสาธารณสุขต่อไป

ปลัด สธ.กล่าวถึงแผนรับมือการระบาดโรค โควิด-19 ในระยะต่อไป ว่า แบ่งเป็น 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.มาตรการสาธารณสุข ใช้แนวทางการชะลอการระบาด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลทุกคนได้ เพิ่มวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 ยืนยันว่า วัคซีนมีคุณภาพและมีความเพียงพอ ตรวจ ATK จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนตรวจคัดกรองตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจที่คลินิก สถานพยาบาลได้ และติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

2.มาตรการการแพทย์ เนื่องจากโรคไม่มีความรุนแรง จึงเน้นการดูแลมาใช้แบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) “โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เราต้องดูแลตัวเองจากที่บ้านได้ ถ้าเรายังต้องอยู่ในสถานพยาบาล ก็ยังเป็นโรคที่มีความร้ายแรง แต่ปัจจุบัน ถ้าโรคไม่แรง ก็ดูแลจากที่บ้านได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า ดังนั้น เราจะต้องมีระบบสนับสนุน ส่งยา เวชภัณฑ์ให้ผู้ติดเชื้อที่บ้านอย่างปลอดภัย มีระบบส่งต่อหากอาการรุนแรงได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

3.มาตรการสังคม ประชาชนยึดหลักป้องกันตัวเองสูงสุด (Universal Prevention) เลี่ยงการเข้าสถานที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเคร่งครัดให้สถานบริการปลอดโควิด-19 (Covid free setting) และ 4.มาตรการสนับสนุน ด้านค่ารักษาพยาบาลและการตรวจหาเชื้อ

“ระยะการระบาดนี้ เราจะเน้นตรวจ ATK เป็นหลัก เรียกว่า ATK First เพราะเราศึกษาจากการใช้หลายล้านชิ้น พบว่า มีประสิทธิภาพ สามารถดักจับโควิด-19 ได้ดีมาก สามารถใช้ตรวจประจำได้ เพื่อป้องกันระบาด ต่อไปเราต้องใช้เป็นประจำ ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการที่ทำให้คนไทยทุกคนปลอดภัย ประเทศเดินต่อไปได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน สธ.จะพยายามบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ในปีนี้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

หากกลุ่มเสี่ยง หรือผู้มีอาการจะใช้การตรวจ RT-PCR สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเพื่อความเหมาะสม ดังนั้น สธ.จึงอยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามการระบาดครั้งนี้ออกไป ให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ด้วยมาตรการ VUCA คือ Vaccine , Universal Prevention , Covid Free setting และ ATK

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงใดจึงจะเข้าใกล้การเป็นโรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เกิดจากลักษณะตัวโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน ระบบรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราป่วยหนัก เพื่อให้อัตราเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำมาก สาเหตุที่โควิดเป็นโรคระบาดรุนแรง เพราะอัตราเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 3 และค่อยๆ ลดลง หากลดมาถึง ร้อยละ 0.1 ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้ ส่วนอีกนานหรือไม่ ตนได้ปรึกษากับกรมควบคุมโรคว่า

“ขณะนี้เป็นเวฟที่ 4 ของโอมิครอนที่จะอยู่ประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เกิดพีคเล็กๆ ไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากการจัดการวัคซีนดี ประชาชนร่วมฉีดให้มีภูมิต้าน โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าภายในปีนี้ จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน