สิ้น ‘ประเทือง เอมเจริญ’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม พ.ศ.2548 สิริรวมอายุ 87 ปี วงการศิลปะร่วมไว้อาลัย ญาติจัดทำพิธีฌาปนกิศพ ณ วัดนิมมานรดี

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 รายงานข่าวแจ้งว่า นายประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม พ.ศ.2548 เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 87 ปี โดยมีบุคคลในวงการศิลปะร่วมสมัยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความอาลัยเป็นจำนวนมาก

สำหรับประวัติ นายประเทือง เอมเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2478 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลวัดสุทธาราม สำเหร่ ธนบุรี ศึกษาศิลปะด้วยตนเอง สร้างผลงานมากมาย ได้รับปริญญากิติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลคลองหก เมื่อปี พ.ศ.2439 และปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิติมศักดิ์ สาขาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อ พ.ศ.2541 รวมถึงปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ สาขาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ใน พ.ศ.2545

ทั้งนี้ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2548 ถึงแก่กรรม เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มี.ค.65 เวลาประมาณ 04.00 น. ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ถนนพุทธมลฑลสาย 3 ซอย 10 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สิริรวมอายุ 87 ปี

โดยทายาทจัดการทำพิธีฌาปนกิศพ ณ วัดนิมมานรดี วันที่ 7 มี.ค. 65 สำหรับเวลาที่แน่นอน ต้องรอการประสานยืนยันจากทางวัด และการจัดงานดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

“กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ได้มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปิน” นายชาย กล่าว

นายประเทือง เอมเจริญ นับเป็นศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะอย่างสืบเนื่องยาวนานตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี และได้ศึกษาศิลปะด้วยตนเองอย่างมุ่งมั่น อดทน ด้วยการศึกษาค้นคว้างานทางศิลปะอย่างหนัก ศึกษาปรัชญาชีวิตทั้งศิลปะของอินเดีย จีน และศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพลังแห่งแสงสว่าง จนเกิดมุมมองในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เป็นรูปแบบของตนเอง

มองโลกในแง่ดี เชื่อในคุณความดี สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบการผสมผสานระหว่างสิ่งที่รับรู้จากธรรมชาติ กับสิ่งที่มีอยู่ในตัวเขาทำให้ถ่ายทอดความงามที่มีอยู่ในธรรมออกมาอย่างมีพลังซึ่งได้กลายมาเป็นผลงานชุดจักรวาลอันมีชื่อเสียง

นอกจากนี้ นายประเทือง เอมเจริญ ยังสร้างศิลปะสถานเอมเจริญ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะและเผยแพร่ผลงานศิลปะของศิลปินต่างๆ แก่ประชาชนผู้สนใจได้เข้าชมและศึกษางานด้านศิลปะ ทั้งยังได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดงานต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นศิลปินรับเชิญเขียนภาพเพื่อการกุศลมากมาย เป็นผู้ถ่ายทอดงานศิลปะให้แก่ผู้สนใจตามโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2548

ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย อาทิ

2510 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม

2511 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ปรเภทจิตรกรรม

2511 – รางวัลการประกวด องค์การโทรศัพท์สากล ไอที

2517 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม

2519 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม

2538 – โล่เกียรติคุณบริจาคช่วยปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่เสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม สมาคมเผยแพร่และส่งเสริมศิลปะวัตถุ

2539 – รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

2541 – โล่ขอบพระคุณในโอกาศให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดทำกิจกรรม “วาดวิถีไทย” Phonelink

2542 – โล่เกียรติคุณในการอนุเคราะห์ภาพเขียนเพื่อจัดพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ ประจำปี 2542 คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2543 – โล่เกียรติคุณในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานแสงสีสร้างสรรค์ ทบวงมหาวิทยาลัย

2544 – ประกาศเกียรติคุณด้านจิตรกรรม พิพิธภัณฑ์ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

(ข้อมูลจาก มูลนิธิศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แวดวงศิลปะ ต่างร่วมแสดงความอาลัยในครั้งนี้ อาทิ โกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ 2540, เพจ ‘ช่วง มูลพินิจ’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ 2556 และวิทยาลัยเพาะช่าง ได้ร่วมไว้อาลัยครั้งนี้

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Angkarn Kallayanapong (อังคาร กัลยาณพงศ์) ผู้ล่วงลับ โพสต์ภาพครั้ง อาจารย์ประเทืองและสามศิลปิน (ถวัลย์ ดัชนี, อังคาร กัลยาณพงศ์, พิชัย นิรันดร์) แสดงนิทรรศการ ‘Visual dhamma’ curated by Alfred Pawlin ที่ซอยอโศกเมื่อ 23 กันยายน พ.ศ.2524 ด้วย

เช่นเดียวกับ โยทะกา จุลโลบล ศิลปินหญิงและโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ และอานันท์ นาคคง ศิลปิน ‘ศิลปาธร’ สาขาดนตรี ประจำปี พ.ศ.2562 ที่ได้ร่วมโพสต์ไว้อาลัยในครั้งนี้

ด้าน นางชม้ยมร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติสาขา วรรณศิลป์ 2557 เผยแพร่บทกวีอาลัย ความว่า

“กราบลา พี่ประเทือง เอมเจริญ

คือสีสันฝันใฝ่ในชีวิต

คือรอยฤทธิ์แรงมีของสีสวย

คือฝีแปรงแสงเหนือเพื่อเอื้ออวย

คือรุ่งรวยร่ำรักมาจากใจ

สิ้นชีวีพี่ประเทือง เอมเจริญ

เทวดามาเชิญพี่ไปได้

ทั้งน้องพี่อยู่หลังยังอาลัย

น้ำตาไหลรินหยดกำสรดลา

โอ้…”รอยริ้วสรรพสีสรร”

ยังยืนยันเป็น “ประเทือง” อยู่เบื้องหน้า

ถอดชีวันสัญญะแห่งชาวนา

เผชิญทุกข์ด้วยดวงตาศิลปิน

เรียนรู้จักรวาลเมื่อนานแล้ว

จับดวงแก้วบริสุทธิ์พุทธศิลป์

จิตรกรรมนฤมิตวิจิตรจินต์

ทิ้งเรื่องราวของแผ่นดินเป็นรอยจำ

ให้ “ศรีศิลป์” รักษ์หอศิลป์ เอมเจริญ

ให้ชาวชนได้เพลิดเพลินกับศิลป์ฉ่ำ

กราบลาพี่ประเทือง รุ่งเรืองล้ำ

ทุกสิ่งที่พี่ธรรม ยืน…นิรันดร์”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน