‘AMG Driving Experience’ สัมผัสฝูงรถ‘เบนซ์’ในสนามช้างฯ

โดย สันติ จิรพรพนิต

‘AMG Driving Experience’ – ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมใหญ่และน่าสนใจอย่างยิ่งกับ ‘Mercedes-AMG Driving Experience 2018’ ที่ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ จัดอบรมการขับขี่เพิ่มทักษะให้สื่อมวลชนรวมถึงลูกค้าในวาระต่างๆ

ล่าสุดไปจัดกันที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์

‘AMG Driving Experience’

เรียกว่าเป็นการตามรอยการแข่งขัน ‘โมโต จีพี’ ที่เพิ่งปิดฉากไปก็ว่าได้

พร้อมกันนี้ค่ายดาวสามแฉกยังถือโอกาสเปิดตัวรถใหม่ 3 รุ่น รวมถึงให้จับเข่าคุยกับ ‘โรลันด์ โฟลเกอร์’ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา

ทริปนี้เรียกว่าแทบพานักข่าวสายรถยนต์มาเกือบครบเพราะปาเข้าไปถึง 150 คน แบ่งเป็น 2 กรุ๊ป ผมถูกจัดอยู่ในกรุ๊ปที่ 2

ออกเดินทางช่วงบ่ายจากสนามบินดอนเมืองมุ่งสู่สนามบินบุรีรัมย์ ก่อนต่อรถบัสมายังโรงแรมที่พักเปิดใหม่อยู่ภายในพื้นที่สนามช้างฯ นั่นเอง

‘AMG Driving Experience’

แยกย้ายเข้าห้องพักได้ครู่ใหญ่ๆ ก็ไปที่สนามช้างฯ เพื่อเปิดตัวรถใหม่ 3 รุ่น โดยเปิดในแทร็กสนามแข่งกันเลย

ก่อนอวดโฉมแสดงโชว์โดยครูฝึกสั่งตรงมาจากออสเตรเลีย ขับรถรอบสนามแล้วไฮไลต์เป็นการขับรถตรงเข้าหากันก่อนหักแยกไปคนละทางแบบเฉียดฉิว

รุ่งขึ้นเริ่มกิจกรรม ‘Mercedes-AMG Driving Experience 2018’

‘AMG Driving Experience’

แบ่งออกเป็น 4 สถานี

ก่อนเข้าสถานีต่างๆ แนะนำครูฝึกมีทั้งมาจากออสเตรเลีย และคนไทยนำโดย ‘อั๋น’สิรคุปต์ เมทะนี’ นักขับและครูฝึกมากฝีมือ

นักข่าวแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเช่นกันเพื่อเวียนไปฝึกแต่ละสถานีจะได้ไม่เสียเวลา

ส่วนรถทดสอบไม่ต้องพูดถึงครับมีราวๆ 30 คัน จัดมาเกือบครบทุกรุ่นก็ว่าได้

‘AMG Driving Experience’

กรุ๊ปผมเริ่มต้นที่สถานี ‘Motorkhana’ ผู้เข้าร่วมทดสอบ จะฝึกบังคับรถยนต์ในสนามจำลองเล็กๆ ที่ทำเลนซิกแซ็กไปมา มีกรวยเป็นตัวบังคับให้อยู่ในเลนเล็กๆ หากขับปกติไม่มีปัญหาอะไร แต่สถานีนี้ต้องวิ่งจากจุดเริ่ม-สิ้นสุดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด

แต่ละคนต้องใส่กันเต็มสปีด มีหลุดบ้างหลบเลนบ้าง หรือทับกรวยเป็นคราวๆ ไป

จากนั้นไปต่อที่สถานี ‘Cornering Theory’ ทดสอบการ เข้าโค้งใช้พื้นที่โค้งภายในสนามช้างฯ ทั้งหมด 4 โค้งด้วยกัน ซึ่งแต่ละโค้งจะมีความกว้างแตกต่างกันไป

แต่จะโค้งจะมีกรวยตั้งอยู่ขอบสนามเป็นสัญลักษณ์ให้กับผู้เข้าร่วมการทดสอบได้ทราบถึงสิ่งที่ควรทำเมื่อเข้าโค้งนั้นๆ เช่น จุดที่ต้องเบรก จุดที่ต้องหักเลี้ยว และจุดเอเปก ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเดินคันเร่งส่งรถออกไปจากโค้งได้ปลอดภัย และรวดเร็วที่สุด

‘AMG Driving Experience’

ความรู้จากสถานีนี้ถือว่าใช้ได้จริง เพราะจะแนะนำการเข้าโค้งที่ถูกต้อง และทำความเร็วได้เหมาะสมที่สุด

สถานีถัดไป ‘Brake and Swerve’ เป็นการทดสอบระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบ ESP หรือช่วยการทรงตัว

วิธีการคือขับรถเข้าจุดในความเร็วประมาณ 80 ก.ม. จำลองเหตุการณ์ว่ามีสิ่งกีดขวางด้านหน้า ที่คนขับต้องเบรกเต็มแรง แล้วหักหลบอย่างรวดเร็ว

สถานีนี้จะนำกรวยมาตั้งขวางเลน มีช่องด้านซ้ายกับขวา โดยมีสัญญาณไฟติดตั้งอยู่ที่ช่องทางทั้งสอง

เมื่อไฟติดขึ้น ผู้ขับขี่ต้องเบรกแล้วหักเลี้ยวไปยังช่องซ้าย หรือขวา ตามที่สัญญาณไฟติดขึ้นมา

‘AMG Driving Experience’

ทีมครูฝึกจากออสเตรเลียและไทย

เรียกว่าได้ฝึกการเลี่ยงอุบัติเหตุ และฝึกสายตากับการตอบโต้อย่างฉับพลัน

สถานีสุดท้าย ‘ESP Exercise’ ทดสอบโดยอิงจากสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวัน กรณีผู้ขับขี่อาจเผอเรอ เช่น รับโทรศัพท์ หรือมองหาสิ่งของในรถขณะแล่นไปตามถนน แล้วจู่ๆ มีรถหรือคนตัดหน้า จนสลับเท้ามาที่แป้นเบรกไม่ทัน ต้องใช้วิธีหักหลบไปอีกเลน แล้วหมุนพวงมาลัยกลับมาเลนเดิมอย่างเร็ว

ในการทดสอบกำหนดความเร็วไว้ประมาณ 80 ก.ม./ชั่วโมง ช่วงที่ผมทดสอบมีแรงเหวี่ยงค่อนข้างมากแต่เสถียรภาพการทรงตัวยังดีอยู่

‘AMG Driving Experience’

โรลันด์ โฟลเกอร์

เรียกว่าระบบ ESP ช่วยป้องกันอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำได้ อย่างดี แม้จะหักพวงมาลัยซ้าย-ขวาอย่างรวดเร็ว

เมื่อฝึกครบทั้ง 4 สถานีแล้ว ปิดท้ายความมันด้วยการทดสอบขับรอบสนาม รถราวๆ 30 คันแล่นตามกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมีครูฝึกในรถ 4 คันแล่นนำแต่ละกลุ่ม แล้วให้รถนักข่าวที่ตามหลังพยายามขับทับรอยให้ใกล้เคียงที่สุดโดยเฉพาะยามเข้าโค้ง

เพราะนั่นคือจุดที่เหมาะสมที่สุดในการเข้าแต่ละโค้ง แต่ละรอบรถนำจะค่อยๆ เพิ่มความเร็วไปเรื่อยๆ เรียกว่าเสียงกระหึ่มสนามช้างฯ อย่างมาก

ปิดฉากความสนุก ทั้งเพิ่มทักษะการขับขี่กลับมากันเพียบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน