งาน‘โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017’ ค่าย‘โตโยต้า’ ถือว่าเป็นบูธเด่นที่มีคนเข้าไปเยี่ยมชมจำนวนมาก เราะไม่เพียงเป็นค่ายยักษ์ใหญ่ของโลกเท่านั้น หากแต่ในงานยังเทน้ำหนักให้รถต้นแบบเป็นส่วนใหญ่ หลายรุ่นเรียกว่าเป็นรถที่ล้ำอนาคตจริงๆ ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นคุณสมบัติรถเหล่านี้ในหนังไซไฟ บางเรื่อง

เริ่มกันที่พระเอกของบูธ ที่จัดแสดงบนเวทีหลักคือ‘คอนเซ็ปต์-ไอ ซีรี่ส์’(Concept-i series) ผลิตรถออกมา 3 รุ่น จุดเด่นไม่พ้นใช้เทคโนโลยีจักรกลอัจฉริยะ (AI) และ‘เอเจนต์ เทคโนโลยี’(Agent Technology) ทั้ง 2 เทคโนโลยีนี้จะทำงานควบคู่กันในการดูแลความปลอดภัย รวมถึงเรียนรู้พฤติกรรมการขับรถเพื่อความสะดวกสบายของคนในรถมากที่สุด เป้าหมายของการพัฒนารถซีรีส์นี้ โตโยต้าต้องการให้รถกลายเป็น‘เพื่อน’ และให้ความสนุกสนาน มากกว่าเป็นเพียงพาหนะที่พาไปสู่จุดหมายเท่านั้น

โดยเฉพาะ‘เอเจนต์ เทคโนโลยี’ สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของคนขับผ่านการแสดงออกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา กายภาพ ลักษณะการขับรถ การค้นหาข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย การใช้เส้นทางไหนเป็นประจำ ฯลฯ เช่นหากใบหน้าของผู้ขับขี่แสดงอาการเหนื่อยล้า อาจจะส่งข้อมูลเตือนให้พักผ่อนหรือระมัดระวังการขับขี่มากขึ้น หรือเปิดเพลง เป็นต้น

คอนเซ็ปต์-ไอ จะประเมินสภาพผู้ขับขี่โดยใช้เทคโนโลยีที่เข้าใจคน และควบคุมความน่าเชี่อถือของผู้ขับขี่และรถ ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ที่ผู้ขับขี่ตกอยู่ในอันตรายหรือเครียด คอนเซ็ปต์-ไอจะปรับไปสู่โหมดการขับขี่แบบอัตโนมัติ เพื่อเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ขับขี่ตามความจำเป็น ยังสามารรถกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า รวมทั้งการมองเห็น การสัมผัส และการได้กลิ่น ทั้งนี้จะขึ้นกับอารมณ์ของผู้ขับขี่ ระดับความเหนื่อยล้า และระดับการตื่นตัวที่จะทำให้ผู้ขับขี่อยู่ในสภาพตื่นตัวหากรู้สึกง่วง และจะช่วยผู้ขับขี่ที่มีความเครียดให้รู้สึกผ่อนคลาย

ในซีรีส์นี้ยังมี‘คอนเซ็ปต์-ไอ ไรด์’(Concept-i Ride) สร้างขึ้นมาสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนแก่ หรือผู้พิการ(ขา) ที่ต้องใช้รถวีลแชร์ ประตูแบบปีกนกเปิดได้กว้างและมีที่นั่งไฟฟ้าเลื่อนไปที่ประตูทางเข้า ซึ่งแม้แต่ผู้ใช้วีลแชร์ที่รู้สึกไม่สะดวกในการเคลื่อนย้ายระหว่างวีลแชร์กับรถ ก็ยังสามารถเข้า-ออกได้อย่างง่ายดาย ใช้จอยสติ๊กแทนพวงมาลัย คันเร่งและแป้นเบรค เน้นการใช้งานง่ายขณะขับขี่

‘คอนเซ็ปต์-ไอ วอล์ก’(Concept-i Walk) พาหนะส่วนบุคคล ใช้เดินทางระยะสั้นๆ บนทางเท้า ลักษณะเป็นแท่งยาวๆ มีมือจับและมีฐานสำหรับยืน ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ที่ด้ามจับช่วยนำทางผู้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย หากรถรู้สึกว่ามีอันตรายในขณะขับขี่ รถจะเตือนผู้ขับขี่และจะมีมาตรการหลีกเลี่ยงโดยอัตโนมัติ มีกลไกปรับเปลี่ยนระยะฐานล้อให้สัมพันธ์กับความเร็ว ช่วยให้เกิดความมั่นคงขณะที่รถหยุดและรถวิ่ง

คอนเซ็ปต์-ไอ ซีรี่ส์ จะเริ่มทดสอบได้ในปีค.ศ 2020

‘ไฟน์-คอมฟอร์ท ไรด์’(Fine-Comfort Ride) ยานยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCV) ภายนอกเป็นรูปเหลี่ยมเพชรที่แคบลงตรงปลาย แต่ในขณะเดียวกันก็กว้างขึ้นในทุกมิติตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงจุดศูนย์กลางของรถ ภายในใช้ฟังก์ชั่น‘เอเจนท์’(Agent) หน้าจอแบบสัมผัสติดตั้งอยู่รอบกายผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ที่นั่งสามารถปรับให้ยืดหยุ่นตามท่าทางการนั่งได้ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารใช้หน้าจอเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้แบบอิสระ ผังที่นั่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดาย ภายในมีอุปกรณ์ครบครัน และสามารถวิ่งไปได้ถึง 1,000 กิโลเมตร ต่อการเติมไฮโดรเจน 1 ถังในเวลาเพียง 3 นาที

‘ทีเจ ครุยส์เซอร์’ (Tj CRUISER) รถคต้นแบบข้ามสายพันธุ์ระหว่างรถตู้และรถเอสยูวี ถือเป็นรถกลุ่มใหม่ เจาะคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ทำงานแบบกลางแจ้ง เป็นรถที่ใช้ทำงานก็ได้เที่ยวก็ดี ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของหนุ่มๆ ทั่วโลก ฝากระโปรง หลังคาและบังโคลนใช้วัสดุ (พร้อมเคลือบสีพิเศษ) กันรอยขีดข่วนและรอยเปื้อน ประตูเลื่อนใหญ่ช่วยให้ขนของเข้าออกจากด้านข้างได้ เครื่องยนต์ 2 ลิตร+ระบบไฮบริด มีทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ

รถต้นแบบอีกรุ่นที่ออกแนวสปอร์ตจ๋า คือ‘จีอาร์ เอชวี สปอร์ต คอนเซปต์’(GR HV SPORTS Concept) การออกแบบทำให้คิดถึง รถแข่ง โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง TS050 Hybrid ที่ลงแข่งในรายการ World Endurance Championship (WEC) ใช้หลังคาทาร์กา (Targa) เปิดประทุนแบบรถสปอร์ต ไฟหน้าแบบแอลอีดี ล้ออลูมิเนียม ปุ่มเลือกตำแหน่งเกียร์อัตโนมัติแยกตำแหน่งอิสระ วางเรียงใต้คอนโซลกลาง ปุ่มสตาร์ทอยู่ที่หัวเกียร์ ดูแปลกตาทีเดียว

โตโยต้า‘โซร่า’(Sora) รถประจำทาง หรือรถเมล์ รุ่นแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ระบบพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้า แบบเดียวกับ‘มิไร’รถเก๋งพลังงานไฮโดรเจน รุ่นแรกของโลก ติดตั้งระบบจ่ายพลังงานภายนอก มีถังเก็บไฮโดรเจนอยู่บนหลังคาตามกฎหมายของญี่ปุ่น ภายในติดตั้งที่นั่งแนวนอนพร้อมกลไกพับเก็บอัตโนมัติ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับรถเข็นเด็กหรือรถวีลแชร์ และเมื่อไม่มีรถเข็นเด็กหรือรถวีลแชร์ ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนที่นั่งให้กับผู้โดยสาร

กล้องวงจรปิดความละเอียดสูง 8 ตัว ติดตั้งทั้งด้านในและด้านนอกรถ มีระบบควบคุมการจอดอัตโนมัติ หยุดรถประจำทางให้อยู่ห่างจากป้าย 3 – 6 ซม.เท่านั้น

‘เจแปน แท็กซี่’(Japan Taxi) รถแท็กซี่รูปทรงคล้ายกับลอนดอน แท็กซี่ ทรงป้อมๆ โตโยต้าตั้งใจจะมาทดแทน‘โตโยต้า คราวน์ คอมฟอร์ท’ ที่เป็นรถแท็กซี่ วิ่งให้บริการในปัจจุบัน ‘เจแปน แท็กซี่’เริ่มออกวิ่งให้บริการแล้วแต่ยังไม่มากนัก จุดเด่นคือความสะดวกสบายของผู้โดยสารตอนหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แบบแอลพีจีไฮบริด

ที่ผลิตรุ่นนี้ออกมาโตโยต้า คาดหวังว่าจะเป็นรถแท็กซี่แห่งชาติของญี่ปุ่น และเป็นที่จดจำเช่นเดียวกับรถแท็กซี่สีเหลืองในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หรือรถแท็กซี่ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ทั้งรถประจำทางโซร่า และเจแปน แท็กซี่ คงได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 2020 ที่โตเกียว เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก

สันติ จิรพรพนิต เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน