โควิดหายป่วยแต่ไม่หายขาด? นักวิทย์จีนพบคนเคยป่วย6เดือนยังไม่ฟื้นอื้อ

โควิดหายป่วยแต่ไม่หายขาด? – วันที่ 11 ม.ค. เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า นักวิจัยจากประเทศจีนเปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รักษาจนหายป่วยแล้วนานถึง 6 เดือน ยังคงมีอาการเจ็บป่วยต่อเนื่องจากโรคโควิด-19

ผลการศึกษาดังกล่าวถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลกที่นักวิทยาศาสตร์ตามเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งถูกรักษาจนหายป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้สูงสุดเป็นระยะเวลา 6 เดือน ที่นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน พื้นที่ที่พบการระบาดครั้งแรกของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนพ.ย. 2562

ข้อมูลพบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วและออกจากรพ. จำนวนถึงร้อยละ 76 ยังคงมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงกับอาการป่วยของโรคโควิด-19 แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 6 เดือนก็ตาม

นักวิจัย พบว่า อาการที่พบในกลุ่มคนเหล่านี้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้แก่ อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรงร้อยละ 63 และมีปัญหาการนอนหลับร้อยละ 26 ถือว่าพบบ่อยที่สุด

แต่ที่สร้างความตกใจให้ผู้วิจัยมากที่สุดเป็นจำนวนผู้ที่เคยป่วยโรคโควิด-19 กว่า 1 ใน 3 มีภาวะไตทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้ระดับของเสียในเลือดสูงขึ้น นำไปสู่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

นายแพทย์เก๋า ปิน หนึ่งในคณะนักวิจัยจากสมาคมมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น แห่งโรงพยาบาลกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า การติดตามอาการของผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 จำเป็นต้องมีการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่านี้อีก เพื่อหาความชัดเจนถึงผลกระทบระยะยาวของโรคโควิด-19 ต่อผู้ป่วย

ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานและการศึกษาเบื้องต้นหลายชิ้นทั่วโลก ในจำนวนนี้ รวมถึงของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อสหรัฐอเมริกา หรือซีดีซี ที่พบผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 จำนวนมาก ยังคงต้องเผชิญกับอาการผิดปกติของสุขภาพในระยะยาว เรียกว่า “ลอง โควิด”

อาการผิดปกติดังกล่าว อาทิ สมองทำงานช้าลง (Brain Fog) ผมร่วง ไปจนถึงอาการหัวใจทำงานผิดปกติ แต่การเก็บข้อมูลเหล่านี้เก็บในระยะสั้นเพียงไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น และศึกษาอย่างเร่งรีบในชาติที่เผชิญกับการระบาดรุนแรง ไม่เหมือนกับการศึกษาล่าสุดในจีน

ซึมเศร้า เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ไต-เซ็กส์เสื่อม

สำหรับรายละเอียดการศึกษานั้นผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลจิน-หยิน-ถัง ศูนย์การแพทย์ด้านการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แห่งแรกของโลกที่นครอู่ฮั่น ภายใต้โครงการศึกษาระดับชาติเพื่อหาข้อมูลผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 ต่อผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่ศูนย์การแพทย์แห่งนี้กว่าร้อยละ 30 ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยกว่าครึ่งนั้นปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ส่วนที่เหลือนั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะให้ความร่วมมือได้ หรือเสียชีวิตไปก่อน ส่วนใหญ่จากอาการทางหัวใจ ปอด และไต

ส่วนผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการนั้นจะต้องกลับมาตรวจร่างกาย และตอบคำถาม รวมทั้งเขียนเอกสารจำนวนมากของคณะวิจัยที่ศูนย์การแพทย์ ตลอดจนเข้ารับการตรวจคัดกรอง อาทิ สมรรถภาพร่างกายทั่วไป เอกซเรย์ และบลัด โปรไฟล์ (ตรวจเลือด)

การศึกษาลงเอยด้วยอาสาสมัครผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 จำนวน 1,733 คน มีค่าเฉลี่ยอายุที่ 57 ปี ในจำนวนนี้ ร้อยละ 63 ระบุว่า ยังคงรู้สึกเหนื่อยแม้แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วนานถึง 6 เดือน โดยผู้ที่ยังมีอาการมากที่สุด เป็นผู้ที่เมื่อตอนป่วยมีอาการรุนแรงที่สุด

ผลการเอกซเรย์กลุ่มผู้เคยป่วยโรคโควิด-19 ยังพบความเสียหายในปอด (ประมาณ 400 คน) เป็นรอยทึบแบบกระจกฝ้า (กราวด์ กลาส) ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งทางพยาธิวิทยาที่บ่งบอกถึงภาวะหายใจไม่อิ่ม เนื่องมาจากการอักเสบหรือความเสียหาย (อาจถาวรหรือไม่ก็ได้) ของปอด

รายงานระบุว่า ผู้ป่วยบางคนนั้นมีภาวะการหายใจที่ย่ำแย่ถึงขนาดไม่สามารถหายใจเข้าได้สุดในการทดสอบสมรรถภาพปอด ขณะที่การศึกษาจากหลายชาติพบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 ตัวการก่อโรคโควิด-19 ยังมีความสามารถบุกรุกเข้าไปในเซลล์ประสาท และสร้างความเสียทางสมองได้

นพ.เก๋า พบด้วยว่า กว่าครึ่งของผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 มีภาวะซึมเศร้า (depression) และหวาดระแวง (anxiety) แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นผลจากความเสียหายในสมอง หรือจากบาดแผลทางจิตใจรุนแรงจากอาการป่วยโรคโควิด-19

ทว่า สิ่งที่เป็นการค้นพบใหม่จากการศึกษาดังกล่าว คือ การตรวจพบค่าอัตราการกรองของเสียของไต หรือจีเอฟอาร์ (Glomerular Filtration Rate) ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ในกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 เชื่อมโยงกับค่าของเสียที่สูงผิดปกติในเลือด ใบหน้าบวมน้ำ และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การค้นพบนี้สอดคล้องกันกับงานวิจัยจากหลายชาติก่อนหน้าที่พบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 อาจสร้างความเสียหายให้เนื้อเยื่อในระบบสืบพันธุ์ได้

ศาสตราจารย์ นพ.กุสเซ็ปเป เรมุซซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต แห่งสถาบันวิจัย มาริโอ เนกรี ประเทศอิตาลี กล่าวว่า เป็นการค้นพบที่เหนือความคาดหมาย แต่ศ.นพ. เตือนว่า ผลการศึกษานี้ใช้การตรวจคัดกรองเท่านั้น ซึ่งมีความไวสูง แต่ไม่จำเพาะเจาะจง

ส่วนการตรวจเลือดนั้นยังพบอีกว่า ระดับแอนติบอดีต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 ในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า กลุ่มตัวอย่างนี้อาจไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อครั้งต่อไป แม้จะเคยป่วยมาแล้วก็ตาม แต่นักวิจัยต้องติดตามต่อไปเพื่อความชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน