วัคซีน เป็นยังไงแล้ว? วิโรจน์ จัดหนักถึง อนุทิน การกระจายความเสี่ยงรัฐบาลจัดการดีพอหรือยัง การระบาดทั้ง 3 ระลอกเหตุเกิดจากพื้นที่สีเทา ทำไมกระทบแต่ประชาชน

วัคซีน – วันที่ 14 เม.ย.64 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ว่า ถ้าใครติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจของผม ตลอดจนการให้ทรรศนะต่างๆของผมเกี่ยวกับการบริหารจัดการในการจัดหาวัคซีน

สิ่งที่ผมเน้นย้ำมาโดยตลอดก็คือ “การกระจายความเสี่ยง” ไม่มีใครรู้ครับว่าวัคซีนตัวไหนดีที่สุด

วัคซีนแต่ละชนิด อาจจะมีอุบัติการณ์จากการฉีดเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และท่ามกลางความไม่แน่นอน เราไม่อาจทราบได้ว่าจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไรเกิดขึ้น ที่อาจะส่งผลต่อคุณภาพของวัคซีน การส่งมอบวัคซีนที่อาจไม่เป็นไปตามแผน

วัคซีนบางชนิดอาจมีข้อบ่งชี้ในการใช้กับกลุ่มประชากรบางกลุ่ม หรือเชื้อไวรัสอาจมีการกลายพันธุ์ ฯลฯ ดังนั้น “การะจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน” จึงมีความจำเป็นอย่างมาก

แต่ที่ผ่านมา หากเทียบกับการการจัดหาวัคซีนของประเทศต่างๆ จะพบว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนเลย นอกจากนี้แม้ว่าปัจจุบันการฉีดวัคซีนจะเร็วขึ้น แต่ถ้าพิจารณาเทียบกับประเทศอื่นๆ เอาแค่ในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ประเทศไทยก็ยังถือว่าล่าช้า

เปรียบเทียบกับประเทศกัมพูชา ที่เพิ่งประกาศฉีดวัคซีนครบ 1 ล้านโดสไปเมื่อวันที่ 12 เม.ย. นี้ ซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งสิ้น 6.25% ในขณะที่ประเทศไทย 578,532 โดส ยังไม่ถึง 1% ของประชากร นี่ก็เป็นหลักฐานที่ชี้ได้ว่าประเทศไทยเราดำเนินการฉีดวัคซีนล่าช้าอยู่มาก

วัคซีน กระจายความเสี่ยง?

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ผมได้สรุปข้อสังเกตที่คิดว่าประชาชนควรทราบ และบางประเด็นที่เป็นคำถาม ก็ยังคงคาดหวังว่าคุณอนุทินจะชี้แจง หรือให้คำตอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนเช่นเดียวกัน ดังนี้

1.อุบัติการณ์ในการฉีดวัคซีนเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ ดังต่อไปนี้

1.1 ผลข้างเคียง และปัญหาที่เกี่ยวกับระบบเลือด ที่เกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีน Pfizer และ Moderna แต่ผลการสอบสวน ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ กับการฉีดวัคซีน

1.2 ช่วงหนึ่งหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอแลนด์ สเปน เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ออสเตรีย ฯลฯ มีการระงับชั่วคราว หรือแนะนำให้หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน AstraZeneca กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป บางประเทศ 60 ปีขึ้นไป บางประเทศ 60 ปีขึ้นไป เพื่อรอผลการสอบสวน

1.3 ต่อมามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการก่อให้เกิดลิ่มเลือด จนหลายประเทศในยุโรปกำหนดข้อจำกัดของอายุในการฉีดวัคซีน AstraZeneca เช่น ประเทศอังกฤษแนะนำให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เลือกฉีดวัคซีนอื่นแทน AstraZeneca

หรือประเทศอิตาลีแนะนำให้ฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี เท่านั้น ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ทาง EMA (European Medical Agency) ออกมายอมรับว่ามีความเชื่อมโยง แต่ประโยชน์ในการฉีดวัคซีน มีมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

1.4 วัคซีน Sinovac ที่มีผลการทดสอบที่ประเทศบราซิล พบว่ามีประสิทธิภาพเพียง 50.4% เท่านั้น และยังไม่พบว่าผลการทดลองเฟส 3 ของ Sinovac ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำ อย่าง New England Journal of Medicine

หรือ The Lancet อย่างเป็นทางการ และประเทศชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอิสราเอล โดยมากกว่า 90% ฉีด Sinovac

แต่ปรากฏว่าการระบาดของประเทศชิลี กลับไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ข้อสังเกตนี้จะละเลยไม่ได้ โดยจากรายงานข่าวระบุว่า หลังจากฉีด Sinovac เข็มแรก ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเพียง 3% เท่านั้น เข็มที่สองภูมิถึงจะขึ้นเป็น 56%

ซึ่งแตกต่างจาก Pfizer และ Moderna ที่ภูมิขึ้นตั้งแต่เข็มแรกในอัตราตั้งแต่ 80% ขึ้นไป

การรับมืออุบัติการณ์หลังฉีดวัคซีน

1.5 รายงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์ลงวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ที่ระบุว่า วัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพในการสร้าง Antibody กับเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ (B117) เพียงแค่ 50% เท่านั้น

1.6 การที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีข้อมูลการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป น้อยอยู่

1.7 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของประเทศจีน ออกมาเปิดเผยเองว่าวัคซีนที่จีนผลิตขึ้น ด้วยเทคโนโลยีเชื้อเตาย (Inactivated) นั้นมีประสิทธิภาพต่ำ [10] รัฐบาลมีการสั่งซื้อ Sinovac ไปทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ซึ่งส่งมอบครบ 2 ล้านโดสไปแล้ว

ตามข่าวมีการแจ้งว่ากำลังเจรจาสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 ล้านโดส และมีข่าวในเวลาต่อมาว่าจะมีการส่งมอบอีก 5 แสนโดส ในปลายเดือน เม.ย. นี้

จึงเป็นที่สงสัยว่า 5 แสนโดสที่กำลังจะส่งมอบ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ 5 ล้านโดส ที่มีข่าวว่าจะสั่งซื้อเพิ่มหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วจะจัดการอย่างไรกับวัคซีน Sinovac ที่มีอยู่ในมือดี พอจะเจรจาขอระงับการสั่งซื้อ หรือลดจำนวนการสั่งซื้อลงมาได้หรือไม่

1.8 วัคซีน Sinovac ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน Emergency Use List ของ WHO แต่เดิมมีข่าวว่าจะขึ้นทะเบียนในเดือน มี.ค. แต่ก็เลื่อนมาล่าสุดคาดว่าจะขึ้นทะเบียนในเดือน เม.ย. ซึ่งต้องติดตามต่อไป และหาก Sinovac ขึ้นทะเบียน EUL ล่าช้า

หรือในท้ายที่สุดแล้วไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือขึ้นทะเบียนอย่างมีเงื่อนไข ก็มีข้อสงสัยว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac จะได้รับ VISA ให้เดินทางไปยังต่างประเทศ ได้หรือไม่

1.9 และล่าสุด อเมริกาก็ประกาศระงับการฉีดวัคซีน Johnson & Johnson ชั่วคราว เพื่อดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์ หลังพบว่าอาจจะมีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะลิ่มเลือด ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากๆ เพราะวัคซีน Johnson & Johnson นั้นเป็นวัคซีนชนิด Viral Vector เหมือนกับ AstraZeneca

ซึ่งทำให้เกิดสมมติฐานขึ้นว่า วัคซีนชนิด Viral Vector นั้นอาจจะมีความเชื่อมโยงกับภาวการณ์เกิดลิ่มเลือด หรือไม่ และวัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่นั้น เป็น AstraZeneca เป็นวัคซีนหลัก และ Sinovac เป็นวัคซีนเสริม ซึ่งไม่มีวัคซีนชนิด mRNA สำรองไว้เลย

อุบัติการณ์จากการฉีดวัคซีน ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ แบบนี้ ในทุกๆ ครั้งที่เกิดขึ้น จะต้องมีการระงับการฉีดวัคซีนที่เกี่ยวข้องเอาไว้ก่อน เพื่อดำเนินการสอบสวน และเมื่อผลการสอบสวนออกมาแล้ว หากไม่มีความเชื่อมโยง ก็จะดำเนินการฉีดต่อไป

หากพบว่ามีความเชื่อมโยง ก็อาจจะมีการกำหนดข้อบ่งชี้ในการใช้วัคซีนเพิ่มเติม หรือดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ผู้รับวัคซีนมีความปลอดภัย

ซึ่งถ้าเรามีการกระจายความเสี่ยงวัคซีนที่ดี หากมีอุบัติการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็จะมีวัคซีนอีกยี่ห้อหนึ่งไว้รองรับสถานการณ์โดยทันที ทำให้การฉีดวัคซีนสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่หยุดชะงัก

และหากเกิดความไม่มั่นใจเกิดขึ้นในประชากรกลุ่มหนึ่ง ก็จะมีวัคซีนทางเลือกให้เลือกใช้ได้ นี่คือประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน

กว่าจะมีวัคซีนทางเลือก

2.ข้ออ้างว่า ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวย ที่จะจองวัคซีน ผมคิดว่าหากพิจารณาเทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย คนหาเข้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการ SMEs เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยวรายเล็กๆ ฯลฯ ต้องแบกรับเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท จากการฉีดวัคซีนล่าช้า ผมคิดว่าการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน มีต้นทุนที่ต่ำกว่านี้มากครับ

3.หากรัฐบาลดึงดันที่จะใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำ ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก็ต้องฉีดวัคซีนให้กับประชากรในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองทั้งระยะเวลา และงบประมาณ ไม่ทราบว่าได้คำนึงถึงประเด็นนี้หรือยัง

4.ข้ออ้างว่าวัคซีนของ Pfizer และ Moderna นั้นต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิที่ต่ำมากๆ Pfizer -70 องศาเซลเซียส และ Moderna -20 องศาเซลเซียส ถ้าจะบริหารจัดการจริงๆ โดยไม่ยึดติดกับความสะดวกของระบบราชการ ก็สามารถจัดการได้

เพราะการจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ นั้นจะใช้สำหรับการจัดเก็บวัคซีนที่ Warehouse กลางเท่านั้น เพื่อเก็บวัคซีนให้ได้ 6 เดือน (ในทางปฏิบัติก็จะค่อยๆ ทยอยรับมอบจากผู้ผลิตเป็นเฟสๆ อยู่แล้ว)

สำหรับการฉีดวัคซีน ก็ให้ทยอยเบิกไปตามจุดต่างๆ ซึ่งสามารถเก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็นทั่วไปได้ ซึ่งจะสามารถเก็บได้ 5-15 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สามารถดำเนินการฉีดให้กับประชาชนได้

5.กว่าจะมีคณะทำงานเพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือก ซึ่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 64 หลังจากวันที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 63 ถึง 1 ปี 2 เดือน กับ 27 วันที่ผ่านมาที่รัฐบาลอ้างมาโดยตลอดว่า ไม่ได้ปิดกั้นวัคซีนยี่ห้ออื่นในทางปฏิบัติรัฐบาลก็ทราบดีว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะเจรจาขายวัคซีนกับรัฐบาลเท่านั้น

การจะขายวัคซีนให้กับเอกชน รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้รับรอง ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายในการซื้อวัคซีนทางเลือก ไม่มีนโยบายในการรับรองให้เอกชนไปจัดซื้อวัคซีนอื่น บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ จะมีแรงจูงใจอะไรมาขึ้น ทะเบียนที่ประเทศไทยดังนั้นจึงชี้ชัดได้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการหาวัคซีนทางเลือกเลย

การตัดสินใจผิดพลาด?

6.การไม่เข้าร่วม COVAX ของประเทศไทย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งประเทศมหาอำนาจอย่าง จีน และอเมริกา ก็เข้าร่วม อินเดียที่มี Serum Institute ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก ก็ยังเข้าร่วม ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมาก

และเป็นการตัดโอกาสในการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน โดยมี WHO เป็นผู้ต่อรองกับผู้ผลิตให้ ล่าสุด WHO เพิ่งประกาศความสำเร็จในการส่งมอบวัคซีนจำนวน 38 ล้านโดส ให้กับประเทศผู้เข้าร่วมโครงการ 100 ประเทศ โดยใช้ระยะเวลาในการส่งมอบ 42 วัน

7.คุณอนุทินยืนยันในคำมั่นว่าใช่หรือไม่ว่า ในเดือน มิ.ย. จะรับมอบวัคซีน AstraZeneca 6 ล้านโดส ก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส โดยมีแผนการฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย. 5 ล้านโดส และ ก.ค.-ธ.ค. เดือนละ 10 ล้านโดส ณ ขณะนี้

ระบบในการลงทะเบียน การเตรียม Flow ในการฉีดวัคซีน อุปกรณ์ สถานที่ และบุคลากร การจัดคิว การติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน ที่สามารถรองรับการฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส นั้นพร้อมแล้วใช่หรือไม่

8.ถ้ายืนยันในคำมั่นในข้อที่ 7 ดังนั้นข้ออ้างที่คุณอนุทินเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เนื่องจากวัคซีนมีอายุ 6 เดือน จึงไม่จัดซื้อมาสำรองเป็นจำนวนมาก เพราะหากฉีดไม่ทันจะสิ้นเปลืองงบประมาณ และหากเชื้อโรคกลายพันธุ์ต้องใช้วัคซีนใหม่ก็จะต้องซื้อวัคซีนใหม่

โดยที่วัคซีนเดิมใช้ไม่หมดและใช้ไม่ได้ จะเป็นการสูญเสียงบประมาณอีก ไม่ใช่เหตุผลที่สามารถอธิบายถึงการไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดซื้อวัคซีนตัวอื่นได้เลย

เพราะในทางปฏิบัติ การส่งมอบวัคซีน ผู้ผลิตก็จะทยอยส่งมอบเป็นเฟสๆ อยู่แล้ว วันหมดอายุของวัคซีนที่ส่งมอบในล็อตการผลิตที่แตกต่างกัน ก็จะถัดกันออกไป

และถ้าความสามารถในการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอยู่ที่ 10 ล้านโดสต่อเดือนจริง ก็สามารถฉีดวัคซีนจำนวนกว่า 60 ล้านโดส ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6 เดือน อยู่แล้ว จากวัคซีน AstraZeneca ที่สั่งซื้อมาทั้งสิ้น 61 ล้านโดส

ทำไมถึงไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดซื้อไปยังวัคซีนอื่น จากจำนวน 61 ล้านโดสนี้ ซึ่งข้อสงสัยนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องตรวจสอบสัญญาระหว่างรัฐบาล กับ AstraZeneca รวมทั้งสัญญาระหว่างรัฐบาลกับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ด้วย

9.รัฐบาลจะเปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลกับ AstraZeneca และสัญญาระหว่างรัฐบาล กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หรือไม่

บังคับใช้กฎหมายถูกที่หรือยัง?

สำหรับประเด็นในการควบคุมการระบาด และผลกระทบจากการระบาด ประชาชนมีคำถามที่จะฝากถามคุณอนุทิน และ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ดังต่อไปนี้

1.คุณศักดิ์สยาม และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้ติดตั้งแอพ “หมอชนะ” หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาคุณอนุทิน ได้เรียกร้องให้ประชาชนติดตั้งแอพ “หมอชนะ” มาโดยตลอด ประชาชนจึงต้องการทราบว่า คุณศักด์สยาม และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณอนุทิน ได้ติดตั้งแอพ “หมอชนะ” หรือเปล่า

เวลาเดินทางไปไหน มาไหน ได้สแกน QR Code ผ่านแอพ “ไทยชนะ” อย่างเคร่งครัดหรือไม่ ในกรณีของคุณศักดิ์สยาม ถ้ามองในเชิงบวก นี่ถือเป็นโอกาสอันดีมาก ที่คุณอนุทิน จะได้นำเอาข้อมูลจากแอพ “หมอชนะ” และ “ไทยชนะ” มาเปิดเผยให้กับประชาชนให้ได้เห็นประโยชน์ในการสอบสวน และควบคุมโรค ซึ่งจะจูงให้ประชาชนติดตั้งแอพ “หมอชนะ” โดยสมัครใจ ได้เป็นอย่างดี

2.การระบาดทั้ง 3 ระลอก ที่เกิดขึ้น ระลอกที่1 จากเหตุการณ์สนามมวยที่ฝ่าฝืนจัดการแข่งขัน ระลอกที่ 2 โยงใยกับบ่อนการพนัน และระลอกที่ 3 เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ซึ่งทั้ง 3 ระลอก นั้นเกี่ยวพันกับพื้นที่สีเทาและกลุ่มอิทธิพล หรือคนที่มีเส้นสายในสังคมทั้งสิ้น

สะท้อนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกใช้อย่างลักลั่น พอการระบาดเกิดขึ้นก็มีแต่จะออกคำสั่งบังคับร้านอาหารเล็กๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการระบาดเลย รัฐบาลควรทบทวนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่

3.การระบาดระลอกที่ 3 นี้ รัฐบาลจะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างไร

แผนรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก

4.ปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่ง ทั้งรัฐ และเอกชน ประกาศงดตรวจโควิด เพราะไม่มีเตียงรองรับกับผู้ป่วยกรณีตรวจพบว่าติดเชื้อ และปัจจุบันประชาชนผู้ตรวจพบเชื้อ ก็มีความโกลาหลอย่างมากในการหาเตียงเพื่อ Admit เพราะถ้าไม่ Admit ก็ผิดกฎหมายอีก รัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร ในการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจโควิด

และเหตุใดทำไม Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ที่เคยตระเตรียมเอาไว้ แทนที่จะสามารถรับมือกับการระบาดได้ทันที กลับต้องมาตั้งหลัก ตระเตรียมกันใหม่ อยู่หลายแห่ง และ ณ วินาทีนี้ เครื่องช่วยหายใจ ยา และเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย และชุด PPE รัฐบาลได้เตรียมพร้อมไว้แล้วใช่หรือไม่

5.สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก รัฐบาลมีแผนที่จะใช้วิธี Home Quarantine โดยมีระบบโลจิสติกส์ในการจัดส่งยาถึงบ้านผู้ป่วย พร้อมมีระบบในการตรวจติดตามอาการของผู้ป่วย แทนที่จะ Admit ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล หรือไม่

รวมทั้งได้คิดที่จะออกประกาศ หรือกำหนดระเบียบที่มีเพื่อให้โรงพยาบาลเอกชน จัดสรรเตียงในสัดส่วนที่มีความชัดเจน เป็นธรรม เพื่อช่วยรองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น แล้วหรือไม่

6.ปัจจุบันยังมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้บุคลากรเหล่านี้ปฏิบัติงานภายใต้ความเสี่ยงไม่ได้ เพราะหากบุคลากรเหล่านี้ทยอยติดโควิด ระบบสาธารณสุข ก็จะขาดกำลังคนในการมาดูแลประชาชนที่ติดโควิด ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้า ให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่

7.ต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ จำนวนไม่น้อย ต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป ซึ่งอาจจะทำให้อาการของโรคลุกลาม และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ รัฐบาลได้วางแผนที่จะดูแลผู้ป่วยอื่นๆอย่างไร

8.รถตรวจโควิดเคลื่อนที่ ที่ไปให้บริการตรวจโควิดให้กับประชาชนตามจุดต่างๆ ไม่ทราบว่าส่งตัวอย่างไปตรวจที่แล็บใด และเบิกจ่ายงบประมาณไปเป็นจำนวนเงินเท่าใด อยากให้รัฐบาลชี้แจง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ

ตอบได้จะดีมาก

ประเด็นทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนจำนวนมาก และถ้าคุณอนุทิน สามารถที่จะชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างละเอียด ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนี้ ล้วนเป็นวิบากของการไม่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของคุณอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งทางออกที่ดีที่สุด ไม่ใช่การเถียงคอเป็นเอ็น หรือมาคอยจับผิดคนที่วิพากษ์วิจารณ์ แล้วเอาอคติของตนมาสร้างเรื่องดิสเครดิตเขา แต่หากเป็นการยอมรับ แล้วเร่งปรับปรุงแก้ไข เร่งกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนจะดีกว่า

ทั้งหมดที่ผมพูด และเสนอแนะ ถ้าลองตั้งสติ แล้วไตร่ตรองให้ดี จะทราบดีว่า ล้วนเป็นความปรารถนาดี ต่อประชาชนทั้งสิ้น ก็หวังเพียงแค่ว่าคุณอนุทิน จะเห็นแก่ชีวิต และปากท้องของประชาชน ที่วันนี้ต้องแบกรับกับความเสียหาย 2.5 แสนล้านบาทต่อเดือน อย่างทุกข์ระทม มากกว่าหน้าตาของตัวเอง

คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับของวิโรจน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน