นักวิทย์วิจัยยาต้านไวรัสสำเร็จ ทำลายเชื้อในปอดได้99.9% ปราบทุกสายพันธุ์

ยาต้านไวรัส – วันที่ 18 พ.ค. บริสเบนไทมส์ รายงานความหวังใหม่ของมนุษยชาติต่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จการสร้างหนึ่งในนวัตกรรมต้านไวรัสก่อโรคโควิด-19 สามารถลดปริมาณไวรัส (ไวรัล โหลด) ในปอดของสัตว์ทดลองได้ถึงร้อยละ 99.9

 

ความสำเร็จดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพเมนซีส์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ (MHIQ) ประจำมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย และสถาบันวิจัย ซิตี้ ออฟ โฮป ในสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนากระบวนการบำบัดที่อาศัยหลักการทางด้านสารพันธุกรรมชนิด RNA ซึ่งมีเป้าหมายทำลายเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ด้วยการค้นหาและทำลายสารพันธุกรรมดังกล่าวของไวรัส ส่งผลให้ไวรัสสูญเสียความสามารถในการเพิ่มจำนวน

ศาสตราจารย์ ไนเจล แม็กมิลแลน ผู้นำคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ กล่าวว่า ยาดังกล่าวมีเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจงเฉพาะกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น จึงไม่มีผลต่อเซลล์ชนิดอื่นๆ ในร่างกาย เนื่องจากทางผู้พัฒนาออกแบบชุดคำสั่งที่จำเพาะอย่างยิ่งด้วยหลักการทางพันธุกรรม ให้ยาค้นหาและทำลายเซลล์หรืออนุภาคไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น

โควิด

ศาสตราจารย์ ไนเจล แม็กมิลแลน หนึ่งในผู้นำคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (บริสเบนไทมส์)

“ถ้าเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็ยาตัวนี้เหมือนจรวดนำวิถีครับ มีเป้าหมายพุ่งเข้าทำลายสารพันธุกรรมของไวรัสโดยตรงเลย” และว่า “ถือเป็นตัวอย่างของยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อสารพันธุกรรมของไวรัสเป้าหมาย ไม่ได้ออกฤทธิ์อะไรกับเซลล์อื่น ถ้าหาเป้าหมายไม่เจอ ยาก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรร่างกายเราครับ” ศ.แม็กมิลเลน ระบุ

รายงานระบุว่า ยาดังกล่าวอาศัยหลักการการควบคุมการแสดงออกของลักษณะทางพันธุกรรม ที่เรียกว่า RNA interference (RNAi) โดยนักวิจัยออสเตรเลียนำมาพัฒนาต่อเป็นยีนส์ที่มีคุณลักษณะพิเศษกลายเป็นเทคโนโลยีหยุดยั้งลักษณะทางพันธุกรรมเป้าหมาย (gene-silencing RNA technology) เรียกว่า small-interfering RNA (siRNA) ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1990

โควิด

ยาเข้าสู่ปอดโดยตรง

siRNA ออกแบบมาให้ชื่อมต่อเข้ากับ RNA ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้โดยตรงอย่างพอดิบพอดี โดยเมื่อเชื่อมต่อกันแล้วจะกลายเป็นยีนส์ที่ส่งสัญญาณให้เซลล์ร่างกายทำลายสารพันธุกรรมดังกล่าวทันที ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

ผลการทดสอบระยะที่หนึ่งซึ่งทดสอบในสัตว์ทดลอง (clinical trial phase I) ให้ผลทดสอบออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้กับหนูทดลองที่ติดเชื้อได้สูงอย่างน่าประทับใจ คาดว่าการทดลองระยะต่อไปจะราบรื่นและนำมาใช้จริงได้ภายในไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า

โควิด

ค้นหาและทำลายสารพันธุกรรมไวรัส

“การศึกษาจากสัตว์ทดลองที่รอดชีวิตพบว่าเราลดปริมาณไวรัสในปอดพวกเค้าลงได้ถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์เลยครับ เรียกว่าเกือบจะหาไวรัสไม่พบ แล้วก็หนูเหล่านี้ก็ยังมีสุขภาพที่ดี” ศ.แม็กมิลเลน ระบุ

รายงานระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้รับการฉีด เพื่อลดความรุนแรงของโรคและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหากล้มป่วยลง แตกต่างกับยาต้านไวรัส (antivirals) ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านและใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส

ศ.แม็กมิลเลน มองว่า แม้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะเป็นหนึ่งในหนทางการยุติโรคระบาด แต่ยาต้านไวรัส ก็ถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน

“วัคซีนเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมครับ เพราะช่วยหยุดยั้งการติดเชื้อได้ แต่ต้องฉีดมาก่อนล่วงหน้า ถือเป็นมาตรการป้องกันครับ” และว่า “แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไปแล้วเนี่ย จะเอาอะไรให้เค้าล่ะครับ จะฉีดวัคซีนให้ก็สายไปแล้ว ไม่เวิร์กแน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องมียาต้านที่ทำลายไวรัสพวกนี้ได้ครับ” ศ.แม็กมิลเลน กล่าว

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้อนุภาคไขมันเป็นตัวนำยาเข้าสู่ปอดโดยตรง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดที่พบการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 มากที่สุด

ศ.เควิน มอร์ริส ผู้นำร่วมในคณะนักวิจัยจากสถาบัน ซิตี้ ออฟ โฮป กล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น การตั้งค่าชุดคำสั่งใหม่เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายค้นหาและทำลายไปเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่น

“กระบวนการรักษาที่เราคิดค้นขึ้นมานี้สามารถใช้ได้ผลกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 1 และ 2 (โควิด-19) รวมถึงชนิดใหม่ๆ ที่อาจเกิดมาจากการกลายพันธุ์ในอนาคตได้ เนื่องจากเป้าหมายหลักของยาเป็นพื้นที่ยีนส์ถาวรในจีโนมของไวรัส” ศ.มอร์ริส กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน