สธ.เผยรายงาน เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 68 ราย ผู้เชี่ยวชาญสรุป 13 ราย อีก 55 ราย รอสอบสวนโรค ไม่เกี่ยว เผย ‘แอสตร้าฯ’ เจอผลข้างเคียง มากกว่า ‘ซิโนแวค’

วันที่ 17 มิ.ย.64 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการรับวัคซีนโควิด 19 ว่า ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – วันที่ 16 มิ.ย. รวม 7,003,783 โดส เป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวค 3,214,385 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มที่มีอาการจนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 993 ราย คิดเป็นอัตรา 20 รายต่อการฉีดแสนโดส

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ เวียนศีรษะ 20% คลื่นไส้ 15% ปวดศีรษะ 12% อาเจียน 8% ผื่น 7% ปวดกล้ามเนื้อ 6% ท้องเสีย 5% และคัน 4% ถือเป็นอาการที่เจอได้เหมือนวัคซีนตัวอื่นที่เจอกันมา

ส่วน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดแล้ว 1,943,693 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 472 ราย คิดเป็นอัตรา 24 รายต่อการฉีดแสนโดส สูงกว่าซิโนแวคเล็กน้อย อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ 31% ปวดศีรษะ 27% เวียนศีรษะ 21% คลื่นไส้ 21% อาเจียน 20% ปวดกล้ามเนื้อ 15% อ่อนเพลีย 13% และถ่ายเหลว 7%

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิด 19 จำนวน 68 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคส่วนกลาง ได้ประชุมพิจารณาและมีข้อสรุปแล้ว 13 ราย ไม่มีรายใดที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือตัววัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมเท่านั้น ได้แก่ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย ลิ่มเลือดเป็นจ้ำเลือด 1 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย เยื้อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง 1 ราย เลือดออกในช่องท้อง 1 ราย และเลือดออกในสมองจากความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง 1 ราย ส่วนที่กำลังรอสอบสวนโรคและรอผลชันสูตร 55 ราย ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. มีการพิจารณาเพิ่มเติมไปหลายแล้ว จะมีการสรุปและมารายงานเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ เลขานุการของคณะจะรวบรวมข้อมูลมาจากโรงพยาบาลหรือพื้นที่ว่าผู้เสียชีวิตที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงมีลักษณะอาการป่วยอย่างไร ฉีดวัคซีนเมื่อไร เริ่มมีอาการอย่างไร โรคประจำตัวและการรักษาเดิมเป็นอย่างไร ครอบคลุมทุกมิติ โดยผลการพิจารณาแบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ 1.เกี่ยวข้องกับวัคซีน 2.เกี่ยวข้องกับคุณภาพของวัคซีน เรื่องนี้ป้องกันตั้งแต่ต้นโดยการตรวจคุณภาพของวัคซีน แต่หากมีข้อสงสัยจะมีการเก็บขวดวัคซีนที่ฉีดแล้วมาตรวจซ้ำ

3.เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉีดวัคซีน 4.เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น อาการชา เอกซเรย์สมองไม่มีสาเหตุ หายได้เองทุกราย 5.เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนแต่บังเอิญเกิดร่วมกัน ก่อนฉีดวัคซีนมีโรคเกิดอยู่แล้ว อธิบายสาเหตุการตายได้ เกิดได้เองไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน 6.ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งสาเหตุการตายชัดเจน แต่ความเชื่อมโยงกับวัคซีนอาจเป็นโรคใหม่ๆ มีข้อที่ต้องพิสูจน์ต่อ จึงต้องเก็บรวบรวมข้อมูล หากเจอกรณีคล้ายกันหรือมีข้อสรุปอื่นใดเพิ่มเติมก็นำมาพิสูน์ทราบเพิ่มเติมได้ และ 7.ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุป

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนมีทุกประเทศ ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา มีประชากร 328 ล้านคน ปกติเสียชีวิตปีละ 3.3 ล้านคน ขณะนี้ฉีดวัคซีน 312 ล้านโดส ฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2563 – 3 พ.ค. 2564 รวม 259 ล้านโดส มีรายงานเสียชีวิตหลังฉีด 4,173 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญได้ข้อสรุปว่าไม่มีสาเหตุจากวัคซีนโควิด 19 แต่อย่างใด

เช่นเดียวกับประเทศไทย ประชากรเกือบ 70 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 5 แสนกว่ารายต่อปี หรือประมาณหลักหมื่นรายต่อเดือน เวลาพิสูจน์สาเหตุมีหลายกรณีที่เห็นสาเหตุการตายแล้วต้องมาเทียบอัตราการเสียชีวิตของสาเหตุนั้น เพื่อจะช่วยสรุปหรือบ่งบอกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังมีการฉีดวัคซีนหรือไม่ เกี่ยวโยงกันหรือไม่

สธ.ให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของประชาชน หากมีข้อมูลใดนำมาพิสูจน์ทราบเพื่อให้เห็นความชัดเจนจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อข้อสรุปที่น่าเชื่อถือและมั่นใจ จนถึงตอนนี้วัคซีนยังมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับวัคซีนหลากหลายยี่ห้อที่ฉีดทั่วโลกหลายร้อยล้านโดสที่มีความปลอดภัยและยังฉีดต่อไป” นพ.เฉวตสรรกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน