กรมวิทย์ ห่วง ‘โอไมครอน’ ทะลักเข้าไทย ผ่านชายแดน จากกลุ่มลักลอบแบบ “เบตา-เดลตา” เร่งดูข้อมูล ATK เล็งเพิกถอน หากตรวจโควิด กลายพันธุ์ไม่ได้

วันที่ 3 ธ.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงข้อกังวลประเทศไทยอาจเกิดการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ว่า ไม่มีใครตอบได้ว่า มีสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยหรือยัง แต่เราค้นหาเต็มที่และมีมาตรการห้ามคนจาก 8 ประเทศ และคนเดินทางไปยัง 8 ประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอนไม่ให้เข้าประเทศแล้ว

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาก็กักตัว หากตรวจเชื้อแล้วผลบวกก็จะตรวจสายพันธุ์โดยเร็ว จะใช้วิธีตรวจแบบเร็วและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวอีกครั้ง ซึ่งภาพรวมมีคนเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 1 แสนกว่าคน ตรวจพบเชื้อ 100 กว่าคน ก็ตรวจสายพันธุ์แล้วยังไม่พบโอไมครอน

ส่วนกรณีคนเข้ามาก่อนหน้านี้จากแอฟริกา 700 กว่าคน กรมควบคุมโรคก็ตามอยู่ เมื่อเช้ามีรายงาน 64 ราย เอามาตรวจ ก็เป็นลบทั้งหมด จึงไม่ต้องมาตรวจสายพันธุ์ เพราะไม่มีเชื้อแต่อย่างใด ก็ต้องตามที่เหลือมาตรวจให้มากที่สุด และยังไล่ตรวจสายพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ ที่เฝ้าระวังเหมือนเดิม เช่น ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยบริเวณชายแดน คลัสเตอร์ที่โผล่ขึ้นมาไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้น เรายังมั่นใจว่าระบบการตรวจของเรา ถ้ามีก็จะตรวจเจอ และประชาชนไม่ต้องตกใจเกินกว่าเหตุ ให้ติดตามสถานการณ์กันไป

“กลุ่มที่บินเข้ามาอย่างถูกต้องไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีระบบตรวจจับ แต่กลุ่มที่ลักลอบเข้ามาตามตะเข็บชายแดน ซึ่งในอดีตไม่ว่าจะเป็นเบตา เดลตา ก็ข้ามมาแบบนี้ทั้งนั้น ไม่ได้มาในช่องทางที่เราเฝ้าเลย เมื่อเข้ามาก็รู้ตอนเข้ามาแล้ว ต้องฝากทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่กวดขัน และคนไทยร่วมมืออย่าข้ามไปข้ามมาโดยไม่มีความจำเป็น จะเกิดการนำเชื้อเข้ามาโดยง่าย เพราะบางประเทศไม่มีการตรวจสายพันธุ์ก็จะไม่เจอ อาจจะหลุดรอดเข้ามาได้ แต่ให้ความมั่นใจว่าระบบเรายังใช้ได้อยู่” นพ.ศุภกิจกล่าว

เมื่อถามถึงการตรวจชุดตรวจ ATK ยังตรวจจับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยืนยันว่า RT-PCR ตรวจได้แน่ ไม่มีปัญหา เพราะเราตรวจมากว่า 1 ยีน หรือตรวจมากกว่า 1 ตำแหน่ง ส่วน ATK ตรวจโปรตีน ซึ่งจากการเทียบตำแหน่งที่กลายพันธุ์กับที่ใช้ผลิตชุดตรวจ เป็นคนละตำแหน่ง ไม่ตรงกัน

หมายความว่าส่วนที่กลายพันธุ์ไม่ได้หายไปในส่วนที่ต้องใช้ตรวจ ก็ค่อนข้างมั่นใจ อย่างไรก็ตาม แต่ละบริษัทมีเทคโนโลยีต่างกัน ก็จะขอดูข้อมูลของแต่ละบริษัทว่าใช้ส่วนไหนของโปรตีนมาตรวจ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ส่วนที่ไม่ค่อยมีโอกาสกลายพันธุ์ แต่ถ้ามีความคืบหน้าว่าชุดตรวจไหนที่ตรวจไม่ได้ ก็ต้องถอนออก

“จริงๆ การใช้ ATK ตรวจเบื้องต้น ต้องพิถีพิถันและเข้าใจว่า ตอนตรวจหากเชื้อน้อยก็ไม่ได้บวก แม้ติดเชื้อแล้วก็ตาม จึงต้องตรวจซ้ำ และการตรวจต้องทำตามคู่มืออย่างเคร่งครัด ซึ่งการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก ขอให้เก็บตัวอย่างให้เพียงพอ ไม่ใช่เก็บเพียงผิวเผินก็จะตรวจไม่เจอ ซึ่งเราห่วงตรงนี้มากกว่าตัวชุดตรวจว่าจะตรวจเจอหรือไม่” นพ.ศุภกิจกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน