สธ.จ่อชง ยกเลิก Test&Go ไปจนถึงหลังปีใหม่ พบติดเชื้อเพิ่ม 2 เท่า ชะลอโอมิครอน ระบาดในไทย พร้อมเร่งบูสต์วัคซีนให้ทัน ใส่หน้ากาก ช่วยชะลอสถานการณ์

วันที่ 20 ธ.ค.64 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนพบใน 89 ประเทศ โดยการติดเชื้อโอมิครอนเพิ่ม 2 เท่าในช่วง 3 วันที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มมีมาตรการควบคุมป้องกันไม่ให้การระบาดกระจายวงกว้าง เช่น เยอรมนี ชะลอคนเดินทางต่างประเทศ เนเธอร์แลนด์ ล็อกดาวน์บางธุรกิจเพื่อลดการระบาดช่วงคริสต์มาส ปีใหม่

สำหรับประเทศไทยตัวเลขการติดเชื้อยืนยัน อาการหนัก และเสียชีวิตลดลง แต่คนเดินทางมาจากต่างประเทศพบติดเชื้อสูงขึ้น 2 เท่า โดยช่วงพ.ย.เดินทางเข้ามา 133,061 คน ติดเชื้อ 171 คน คิดเป็น 0.13% โดยเฉพาะระบบ Test&Go เข้ามา 106,211 คน ติดเชื้อ 83 คน คิดเป็น 0.08% ขณะที่วันที่ 1-19 ธ.ค. เข้ามา 146,781 คน ติดเชื้อ 348 คน คิดเป็น 0.22% โดย Test&Go เข้ามา 126,649 คน ติดเชื้อ 204 คน คิดเป็น 0.15%

“ช่วง 19 วันของธ.ค. ผู้เดินทางเข้าประเทศเยอะกว่าพ.ย.ทั้งเดือน อย่างระบบ Test&Go เข้ามาเพิ่มจนเป็นวันละ 1 หมื่นคน ส่วนแซนด์บ็อกซ์ประมาณ 1 พันคนต่อวัน สำหรับผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา เจอโอมิครอนประมาณ 1 ใน 4” นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า การพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่าของ Test&Go กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงจัดทำข้อเสนอ ศปก.ศบค. เพื่อเสนอ ศบค.ต่อในการชะลอการเดินทางเข้าประเทศรูปแบบ Test&Go ทุกประเทศไปจนหลังปีใหม่ เพื่อชะลอการเข้ามาของโอมิครอน เพราะไม่อยากให้การจัดกิจกรรมเทศกาลช่วงนี้ในประเทศ มีการติดเชื้อระบาดเพิ่มเติมมากนัก เพื่อให้คนไทยมีความสุขฉลองปีใหม่ โดยอาจใช้ระบบแซนด์บ็อกซ์ และกักตัว 7 วัน 10 วันแทน

โดยอาจชะลอ Test&Go จนไปเปิดพร้อมกับผับบาร์ เนื่องจากโอมิครอนติดเชื้อค่อนข้างเร็ว น่าจะตรวจเจอในช่วง 7 วัน เมื่อตรวจจากต้นทาง 3 วันก่อนเดินทาง และมาตรวจที่เราในช่วง 7 วัน รวมเป็น 10 วัน ก็น่าจะเพียงพอที่จะตรวจเจอ

“การจะชะลอโอมิครอน เราต้องทำ 3 อย่าง คือ ลดคนเดินทางเข้ามา โดยเฉพาะ Test&Go หากเข้าไปอยู่ในระบบแซนด์บ็อกซ์ หรือกักตัวก็จะติดตามได้ ต่อมาคือเร่งฉีดวัคซีน ทั้งคนที่ยังไม่ฉีดและกระตุ้นเข็ม 3 เพราะอย่างอเมริกาฉีดเปอร์เซ็นต์น้อย หรืออังกฤษที่ฉีดครบเร็ว ภูมิตกไว ยิ่งไม่ใส่หน้ากาก โอมิครอนแพร่เร็ว ก็มีโอกาสไปเจอคนที่ไม่ฉีดหรือภูมิตกได้มาก ก็มีโอกาสอาการรุนแรงเสียชีวิต ดังนั้น เราต้องบูสต์ให้ทัน และสุดท้ายคือใส่หน้ากาก” นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามว่ามีหลายคนออกมาพูดว่าโอมิครอนน่าจะรุนแรงน้อย อาจเป็นเรื่องดีที่มาแทนเดลตา นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เราไม่แน่ใจว่าไม่รุนแรงจริงหรือไม่ เพราะเพิ่งมาใหม่ อย่างเดลตาหนักเพราะตอนนั้นเรายังไม่ฉีดวัคซีนครอบคลุม หากตอนนี้เราไม่ฉีดวัคซีนเลย แล้วโอมิครอนเข้ามาในความเห็นตนคงไม่ต่างจากเดลตา

แต่ตอนนี้คนฉีดวัคซีนเยอะมาก ก็มีโอกาสน้อยที่จะรุนแรงเหมือนเดลตา แต่โอกาสแพร่อาจใกล้เคียงหรือมากกว่านิดหน่อย ดังนั้น เราต้องบูสต์ให้ทัน เพราะหากเข้ามาแล้วแพร่เร็ว โอกาสไปเจอคนไม่ฉีดก็สูง อาจมีคนเสียชีวิตได้ ถ้าบูสต์ไม่ทันอาจจะเห็นเสียชีวิตหลังปีใหม่เยอะขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน