กรมอนามัย แนะ 4 เรื่องต้องทำ ช่วยบ้านปลอดภัยจาก ‘โควิด’ ช่วงสงกรานต์ จัดการระบายอากาศ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ แยกของใช้-แยกห้องเมื่อมีคนติดเชื้อ

วันที่ 30 มี.ค.65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการทำบ้านและชุมชนให้สะอาดปลอดโควิดเตรียมพร้อมก่อนวันสงกรานต์ ว่า สถานการณ์โควิด 19 ปัจจุบันยังประมาทไม่ได้ ต้องเตรียมบ้าน ชุมชน ให้สะอาดปลอดเชื้อโควิด จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยและอยู่ได้กับโควิด ซึ่งเร็วๆ นี้จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์แล้ว

จากการสำรวจอนามัยโพล พบว่า การปฏิบัติมาตรการส่วนบุคคลครบทั้ง 3 อย่าง คือ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ อยู่ที่ประมาณ 80% โดย มี.ค.2565 อยู่ที่ 81% จึงขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติให้ครบถ้วนเพื่อความปลอดภัย ทั้งตัวเอง คนในครอบครัว และในชุมชน

ส่วนผลสำรวจการวางแผนเข้าร่วมกิจกรรมช่วงสงกรานต์ พบว่า 50% เลือกอยู่บ้านไม่นัดรวมกลุ่ม 33% ร่วมกิจกรรมที่วัด ตักบาตร สรงน้ำพระ 31% รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และ 27% กินข้าว สังสรรค์ กับครอบครัวและเพื่อนฝูง

“จะเห็นว่าสถานที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับบ้านและชุมชน ขณะที่พฤติกรรมป้องกันตนเองในบ้าน สำรวจพบว่า การสวมหน้ากากในบ้านแนวโน้มดีขึ้น จาก ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 61% เพิ่มเป็น 72% ในเดือน มี.ค. 2565 ส่วนคัดแยกขยะ ทั้งหน้ากากอนามัย และ ATK ที่ใช้แล้ว มีแนวโน้มปฏิบัติทรงตัวประมาณ 81-84% ข้อจำกัดการทำความสะอาดคือ เวลา ไม่ได้ทำเป็นประจำ อุปกรณ์ไม่พร้อมไม่เพียงพอ ส่วนการคัดแยกขยะมีข้อจำกัดคือไม่มีถังขยะคัดแยก จึงต้องทิ้งรวม” นพ.สุวรรณชัยกล่าวและว่า การปฏิบัติจัดการบ้านและชุมชนให้ปลอดภัยปลอดโควิด เน้นย้ำ 4 ประเด็น คือ 1.จัดสภาพแวดล้อม 2.ระบายอากาศที่ดี 3.ทำความสะอาด 4.การจัดการขยะติดเชื้อ ควรนำหลักการไปปรับใช้ให้สอดคล้องบริบทและข้อจำกัดแต่ละบ้าน

ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดการบ้านนั้น เรื่องของการระบายอากาศที่ดี หากมีหน้าต่างช่องลมพยายามเปิดให้มากที่สุด ให้มีการเข้าผ่านของลม โดยเปิดระบายอากาศ 15 นาทีก่อนและหลังใช้ห้อง ใช้พัดลมในบริเวณมุมอับ

ส่วนห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดประตูหน้าต่างทุก 1-2 ชั่วโมง และตรวจสอบทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเสมอ โดยเปิดร่วมกับเครื่องฟอกอากาศได้ หากจะเปิดตลอดเวลาเนื่องจากช่วงนี้อากาศร้อน ก็ย้ำว่าทุก 1-2 ชั่วโมงให้เปิดหน้าต่างระบายอากาศ 15 นาที

เรื่องการทำความสะอาด ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากาก ถุงมือ เปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศก่อนทำความสะอาด ทำความสะอาดด้วย แอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เน้นบริเวณที่ใช้เสมอ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องกินข้าว และห้องส้วม จุดสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู โถส้วมบริเวณที่นั่ง ทุกครั้งหลังทำความสะอาดแล้ว ต้องอาบน้ำสระผมเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

สำหรับการจัดบ้านให้ปลอดภัย เมื่อทราบว่าติดเชื้อ หากมีห้องแยกให้แยกห้อง แยกของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์การกินอาหาร เสื้อผ้า แยกถังขยะต่างหาก กรณีไม่มีห้องแยก ควรจะกันพื้นที่เอาไว้ ใช้ฉากกั้นต่างๆ เพื่อเว้นระยะห่าง ห้องน้ำห้องส้วมหากแยกไม่ได้ ให้ผู้สงสัยหรือติดเชื้อใช้หลังสุด หลังใช้แล้วทำความสะอาดทันที

เรื่องการจัดการขยะติดเชื้อ กรณีมีถุงแดงให้ใส่ขยะติดเชื้อ ทั้งหน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK ที่ใช้แล้วลงถุงแดงมัดปากถุงให้แน่น ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฟอกขาว ใส่ถุงแดงอีกชั้น และทิ้งในจุดที่กำหนดทิ้งขยะติดเชื้อ หากไม่มีถุงแดงไม่มีสถานที่ให้ทิ้งขยะติดเชื้อ ให้ใส่ถุงดำ เทน้ำยาฆ่าเชื้อ ปิดให้แน่น พ่นฆ่าเชื้อขอบถุงอีกครั้ง ใส่ถุงดำซ้อนสองชั้น ก็จะเปลี่ยนจากขยะติดเชื้อเป็นขยะธรรมดา นำไปทิ้งได้

“ย้ำว่าต้องป้องกันตนเองที่บ้านด้วย ไม่เฉพาะออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันผู้สูงอายุหรือเด็กเล็กที่อาจทำให้ติดเชื้อได้ โดยใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ จัดกิจกรรมในบ้านมากกว่าออกไปข้างนอก เปิดหน้าต่างประตูระบายอากาศให้ดี ของใช้ส่วนตัวแยกกัน รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ มีอาการหรือสงสัยเสี่ยงสูง ตรวจ ATK แยกกักตัวที่บ้าน” นพ.อรรถพลกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน