พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการผลักดันร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. … และร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ. … ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งอาจมีการออกประกาศประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียม คือ เอราวัณ และบงกช ได้ในช่วงกลางปี 2560 ล่าช้ากว่ากรอบเวลาเดิมที่กระทรวงพลังงานคาดจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.นี้ และออกประกาศเปิดประมูล ได้ช่วงเดือนมี.ค.2560

“หากการพิจารณากฎหมายและขั้นตอนต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบที่วางไว้ หรือเกิดความล่าช้าเล็กน้อย ก็พร้อมขยับ ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้เบื้องต้นเดือนมี.ค. 2560 เป็นแผนระยะเร็ว ซึ่งอาจไม่ทันแต่ถ้าแผนกลางๆ น่าจะทัน โดยยืนยันว่าการออกประกาศเปิดประมูลจะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 แน่นอน ซึ่งกระทรวงพลังงานก็พยายามสื่อสารกับนักลงทุนทั้งโดยตรงและผ่านทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยเอกชนมีความเข้าใจดีและยืนยันว่าถ้าไม่เกินสิ้นปีก็รับได้”

พล.อ.อนันตพร ยังเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า กบง. ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงทุนสร้างคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ขนาด 7.5 ล้านตัน ในพื้นที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 5 ล้านตัน เพื่อกระจายความเสี่ยง หลังพบว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่กำลังการผลิตในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น พร้อมกับให้ก่อสร้างคลังที่ขนาด 7.5 ล้านตัน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่า เพราะมูลค่าการก่อสร้างคลัง 2 ขนาดต่างกันเพียง 1,000 ล้านบาท

ในส่วนของกรณีที่ ปตท. เตรียมตั้งบริษัทลูก พีทีทีโออาร์ เพื่อแยกธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกออกมาบริหาร โดย ปตท. ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวสัดส่วน 45-50% นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เนื่องจากบริษัทแม่จะยังเป็นผู้กำกับดูแลบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่ ทำให้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งมติดังกล่าวจะต้องมีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ ปตท. ให้มีความชัดเจนในเดือนเม.ย. 2560

สำหรับแผนสำรองไฟฟ้าของประเทศตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) ปัจจุบันที่สูง 30% จากปกติควรอยู่ที่ระดับ 15% อยากให้พิจารณาในระดับภูมิภาค เนื่องจากภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟปริมาณสูง แต่ไม่มีไฟฟ้าสำรองสูงแต่อย่างใด ซึ่งในที่สุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพาจะเกิดได้หรือไม่ คงต้องรอให้คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา

“เรื่องนี้เป้าหมายยังไม่ใช่ว่าจะเลื่อน ขอให้ผู้ที่เห็นต่างพิจารณาในทุกมิติ ยืนยันว่าจะไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ และสามารถอธิบายต่อสังคมได้ ล่าสุดกระทรวงพลังงานจะเจรจากับกลุ่มบริษัทร่วมทุนเครือ กัลฟ์ ผู้ชนะการประมูลผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ ไอพีพี จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ แต่เพียงผู้เดียวให้ทยอยลด ชะลอหรือเลื่อน การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 ออกไปก่อน แต่บังคับไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาอีกครั้ง คาดจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้”พล.อ.อนันตพร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน