นางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2561 แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาส 4 /2560 เป็น 7.1% โดยสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 10.6% ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อเกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.68% ในไตรมาส 4/2560 เป็น 2.78% ในไตรมาสนี้ โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2561 พบว่ามีการจ้างงานลดลง 0.2% โดยเฉพาะจากแรงงานภาคนอกเกษตรลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่วนการจ้างงานในสาขาการผลิตทรงตัว แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ไม่สะท้อนในภาพรวมของการจ้างงานที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง และบริการส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการประกอบธุรกิจ ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัว 6.0% จากไตรมาส 1/2560 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร

ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.2% เท่ากับไตรมาส 1/2560 เป็นผู้ว่างงานมีจำนวน 4.7 แสนคน รายได้แรงงานที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในภาพรวมเพิ่มขึ้น 2.3% จากไตรมาส 1/2560 โดยภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อไปยังมีประเด็นด้านแรงงานที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ ได้แก่ รายได้แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มผันผวน จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลงโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต

นางชุตินาฎ กล่าว่า การบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรการบรรเทาผลกระทบ จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 308-330 บาท/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการตรวจสอบและติดตามให้สถานประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามการประกาศขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งพบว่าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. มีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 188 แห่ง มีลูกจ้างที่ได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 1,327 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน