กรมการขนส่งทางบกไล่จับรถตู้โดยสารอายุเกิน 10 ปี ขู่ยังฝ่าฝืนวิ่งเจอปรับสูงสุด 2 แสนบาท

ขนส่งไล่จับรถตู้อายุเกิน 10 ปี – นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้ เร่งจัดระเบียบรถตู้โดยสารหมดอายุ ซึ่งปัจจุบันกรม กำหนดอายุการใช้งานรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน กรณีผู้ประกอบการฝ่าฝืนนำรถตู้อายุเกิน 10 ปี มาให้บริการ ถือเป็นการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท เนื่องจากรถตู้โดยสารสาธารณะที่มีอายุเกิน 10 ปี บริษัทประกันภัยจะไม่รับจัดทำประกันภัยให้ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับเจ้าของรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และผู้โดยสารไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงขออความร่วมมือประชาชนพิทักษ์สิทธิความปลอดภัย เลือกใช้บริการรถตู้ถูกกฎหมายได้รับความคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุ หากพบปัญหาจากการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ โทร. 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการนำรถโดยสารขนาดเล็กมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก เริ่มทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน (ครบ 10 ปี) ก่อน ซึ่งมีการทยอยเปลี่ยนในเส้นทาง หมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง และหมวด 3 ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด เฉพาะเส้นทางที่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 ส่วนเส้นทางหมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาค รวมถึงเส้นทางหมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด ที่ไม่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งที่จะเข้าหลักเกณฑ์ปี 2562 ขณะนี้ยังสามารถนำรถตู้โดยสารมาเปลี่ยนทดแทนคันเดิมได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562 แต่กำหนดเงื่อนไขต้องเป็นรถใหม่ หรือรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี และจะมีระยะเวลาในการวิ่งบริการในเส้นทางรวมแล้วไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนรถครั้งแรก ทั้งยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเดินรถอย่างเคร่งครัด

นายพีระพล กล่าวว่า การกำหนดอายุรถตู้โดยสารห้ามเกิน 10 ปี โดยการนำรถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐาน 2 (จ) จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง (ที่ไม่ใช่ลักษณะรถตู้) และหรือรถโดยสารมาตรฐาน 2 (ค) จำนวนที่นั่งตั้งแต่ 21-30 ที่นั่ง ที่ต้องมีระบบเบรกแบบ ABS (Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า พร้อมติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกมาให้บริการแทน เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ

แต่เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการให้มีช่วงเวลาปรับตัว กรมการขนส่งทางบก ได้มีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อจูงใจและลดผลกระทบของผู้ประกอบการ อาทิ การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บขส., ธนาคารกรุงไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร” และได้จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จรถตู้โดยสารประจำทาง ณ บริเวณอาคาร 3 ชั้น 1 อำนวยความสะดวกให้คำปรึกษาแนะนำกรณีรถตู้โดยสารประจำทางจะครบกำหนดอายุ 10 ปี และขั้นตอนการ จดทะเบียนรถแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) พร้อมช่วยเหลือเจ้าของรถในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะทำการเปลี่ยนรถทดแทนรถคันเดิมที่หมดอายุให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน