‘ถุงเพาะชำ’ยางพารา-ย่อยสลายได้ ตอบโจทย์ลดโลกร้อน

‘ถุงเพาะชำ’ยางพารา – ผลิตภัณฑ์ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้ของ นายณัฐวี บัวแก้ว อายุ 24 ปี เจ้าของแบรนด์ Greensery นอกจากจะตอบโจทย์ช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำยาง พาราตกต่ำ และเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีส่วนรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ที่สำคัญก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์ของเขาก็ได้รับการคัดเลือก ให้เข้าร่วมประกวดแข่งขันแผนธุรกิจโครงการ Bangchak YY contest กระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นตัวแทนประเทศไทยไปนำเสนอผลงาน ในงาน Social Business Forum Asia ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นมากทีเดียว

‘ถุงเพาะชำ’ยางพารา

หนุ่มรายนี้จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เขาเล่า ให้ฟังว่าเคยช่วยน้องสาวทำโครงงานถุงเพาะชำดูดซับน้ำจากยางพาราเลยตัดสินใจ นำโครงงานนี้มาวิจัยและพัฒนาต่อ

และได้เข้าเป็นผู้ประกอบการในความดูแลของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ม.อ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนในหลากหลายด้านทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ และการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงได้เข้าร่วมโครงการ SME D Scaleup Rubber Innovation โดยได้รับความช่วยเหลือจากคณาจารย์ภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ม.อ. เป็นที่ปรึกษาในการวิจัยและพัฒนาถุงเพาะชำจากยางพาราในครั้งนี้ จนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในปัจจุบัน

เจ้าของ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” อธิบายถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตถุงเพาะชำว่า ไม่มีความยุ่งยากอะไรมาก ใช้กระบวนการ เดียวกับการผลิตถุงมือจากยางพาราในปัจจุบัน นั่นคือกระบวนการจุ่มขึ้นรูป มีแม่พิมพ์ถุง เพาะชำ สูตรที่ใช้ขึ้นรูป และตู้อบเป็นอุปกรณ์หลัก ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตมีการใช้ยางพารามากกว่า 50% ส่วนผสมของถุงใช้เป็นฟูดส์เกรดทั้งหมด จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันได้วิจัยและพัฒนาถุงเพาะชำจาก ยางพาราขึ้นมา 2 รูปแบบนั่นคือ ถุงเพาะชำขนาดเท่าถุงพลาสติกทั่วไปและผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ถุงเพาะชำกล้าสำหรับถาดเพาะชำ ซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้เป็นหลักเพราะมีฐานลูกค้ารองรับเนื่องจากทำให้สามารถย้ายกล้าลงแปลงปลูกได้รวดเร็วไม่เกิดความเสียหายของรากพืชในการย้ายกล้า และยังคงคุณสมบัติเดิมคือ ถุงสามารถย่อยสลายได้ สามารถดูดซับน้ำได้ และมีธาตุอาหาร N P K ที่จำเป็นของกล้าพืชในการเจริญเติบโตทำให้เกษตรกรลดระยะเวลาในการทำงานลงได้ รวมถึงอัตราการรดน้ำ และปริมาณปุ๋ยเคมี ทั้งยังช่วยเกษตรกรชาวชวนยางได้อีกด้วย

คุณณัฐวีพูดถึงกลุ่มลูกค้าของเขาว่า มีหลากหลาย อาทิ กลุ่มบริษัทเพาะพันธุ์ กล้าไม้, กลุ่มผู้ประกอบการจำหน่วยอุปกรณ์ทางการเกษตร, กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ได้ผลิตออกจำหน่ายตั้งแต่เดือน เมษายนที่ผ่านมา และเนื่องจากงานวิจัยถุงเพาะชำจากยางพาราเพิ่งวิจัยสำเร็จได้ไม่นาน จึงต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดย ในช่วง 1-2 ปีแรกวางแผนในการจ้างผลิต จากโรงงานผลิตถุงมือจากยางพารา

สำหรับแผนการตลาด นายณัฐวีกล่าวว่า ด้วยความที่เป็นสินค้าใหม่เจ้าแรกและเจ้าเดียว ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากนัก จึงต้องอาศัยช่องทางการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ และจากการได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรเพาะพันธุ์กล้าไม้ในพื้นที่หลาย จังหวัดในภาคใต้ และงานเกษตรภาคใต้ที่รวมผู้ประกอบการหลายจังหวัดในประเทศ ไทย พบว่าเกษตรกรมีความสนใจที่จะทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ถุงเพาะชำจากยางพารา รวมถึงการนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับผลตอบรับอย่างดีมาก ซึ่งสรุปผลได้ว่าถุงเพาะชำจากยางพาราไม่เพียงแต่เป็นที่ต้อง การภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถเปิดตลาดในต่างประเทศได้

จากข้อมูลดังกล่าว จึงได้จัดทำการตลาด ทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงออกบูธเจรจาคู่ค้าระหว่าง ประ เทศเพื่อช่วยประชา สัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

นายณัฐวีให้ข้อมูลด้วยว่า จากการสืบค้นข้อมูล ยืนยันได้ว่าเป็นถุงเพาะชำรายแรกของไทย และน่าจะเป็นรายแรกในโลกก็ได้เพราะค้นไม่เจอว่ามีที่ไหนทำบ้าง ซึ่งถุงที่ทำตอนนี้มีเฉพาะถุงที่ใช้สำหรับถาดเพาะชำ กำลังพัฒนาไปผลิตขนาดต่างๆ ด้วย โดย ถุงที่พัฒนาขึ้นเหมาะสำหรับพืชที่มีอายุมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปหรือพืชไม้ดอกไม้ประดับ

ผู้สนใจ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้ แบรนด์ “Greensery” ติดต่อ คุณณัฐวี ได้ที่โทร. 06-4497-7095 ไลน์ : nutnattawee และ เพจเฟซบุ๊ก : @GreenseryThailand

นับเป็นผู้ประกอบการอีกรายที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งใช่เพียงจะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถขายน้ำยางได้ในราคาที่สมเหตุสมผล แล้วยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

รายงานพิเศษ โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน