คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เมตตา เขื่อนธรรม

ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกในประเทศ เปิดบริหารมาร้อยกว่าปี ในกลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่

ล่าสุดมีแผนรุกตลาดลูกค้าขนาดกลางเพิ่มมากขึ้น รวมถึงวางแผนรองรับระบบ “พร้อมเพย์” ที่บรรดาสถาบันการเงินแข่งขันกันดุเดือดเหลือเกิน

พร้อมกับการแถลงแผนการตลาดและทิศทางการดำเนินงาน จึงเชิญสื่อมวลชนร่วมทริปเดินทางไปเกาะฮ่องกง สักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล

นำทีมโดย “นายอาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มี อ.วิศิษฐ์ เตชะเกษม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านฮวงจุ้ย รับหน้าที่บรรยาย

ทริปนี้ไม่ได้แค่ได้ลิ้มรสชาติอาหารอร่อยสมคำร่ำลือ ยังได้พูดคุยแบบเป็นกันเองกับคณะผู้บริหารถึงการพัฒนาของไทยพาณิชย์ ที่ตั้งเป้าที่จะขยายฐานลูกค้าขนาดกลาง แต่ก็ไม่ได้ทิ้งในส่วนของลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันหน่วยลงทุนของธนาคารมียอดขาย 10,000 ล้านบาท

สัดส่วนของลูกค้าขนาดกลางยอดขาย 500 ล้านบาทขึ้นไป โดยมีเป้าหมายให้ขนาดกลางโตขึ้น 15% ในขณะที่รายใหญ่โตที่ 3-5% เพื่อเป็นการปรับสมดุลของหน่วยลงทุน เพื่อลดความผันผวน ซึ่งเป็นผลกระทบจากกลุ่มบริษัทรายใหญ่ และธนาคารต้องดำเนินตามเป้าหมายให้ได้อย่างต่อเนื่อง

“ไทยพาณิชย์ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของ ผู้บริโภค เช่นการไปธนาคารในอดีต หากไม่ไปทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารลูกค้าทำอะไรไม่ได้เลย แต่ในอนาคตรูปแบบการ ให้บริการไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการมีเคาน์เตอร์ และการต่อคิว แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นไดเร็กต์ แบงกิ้งได้ ซึ่งมีระบบรองรับการให้บริการได้เทียบเท่ากับที่มนุษย์ทำ”

นายอาทิตย์กล่าวและว่า ในอนาคตแบงก์จะเป็นเหมือนแพล็ตฟอร์มสำหรับกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากในทุกกิจกรรมต้องใช้เงินเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว แต่จะทำให้แบงก์ไปอยู่ในทุกที่โดยที่ผู้ใช้บริการแทบไม่รู้สึก เช่น แต่เดิมมาช็อปปิ้งที่จตุจักร ก็จะตั้งในบริเวณรอบๆ สวนจตุจักร เมื่อคนต้องการเบิกเงิน โอนเงิน ก็ต้องเดินออกมาทำธุรกรรม แต่ในปัจจุบัน ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี คนเราก็สามารถโอนเงิน จ่ายเงิน โดยไม่ต้องเดินออกมาเช่นสมัยก่อน

ผู้บริหารไทยพาณิชย์ บอกอีกว่า สิ่งที่เริ่มทำไปแล้ว คือการแยกการขายออกจากการให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เซลส์จะไม่ได้นั่งประจำที่สาขาอีกต่อไป แต่จะออกไปหาลูกค้า ทำการบ้านอย่างละเอียดว่าลูกค้าเป็นใคร มีความต้องการอะไร ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบ การขาย การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยน ไปนี้ ช่วยลดแรงกดดันของทั้งลูกค้า และทีมขายด้วย

ในเรื่องของ “พร้อมเพย์” นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่าปัจจุบันมีประชาชนทั่วประเทศลงทะเบียนเพื่อรับบริการพร้อมเพย์ ประมาณ 24 ล้านคน ผูกบัญชี พร้อมเพย์ จำนวนเกือบ 2.5 ล้านราย ทั้งผ่านทางเบอร์โทรศัพท์มือถือ และบัตรประชาชน ซึ่งในปลายปีนี้ เราอยากเห็นประชาชนมาผูกบัญชี ประมาณ 4-5 ล้านบัญชี

“ปัจจุบันมีธุรกรรมที่โอนผ่านระบบพร้อมเพย์ทั้งระบบ ประมาณ 2-3 หมื่นธุรกรรมต่อวัน เป็นของไทยพาณิชย์ประมาณ 3,000-4,000 พันธุรกรรม ในขณะที่ธุรกรรมการโอนข้ามธนาคารทั้งระบบในปัจจุบัน อยู่ที่ 1 ล้านธุรกรรมต่อวัน ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า แม้พร้อมเพย์จะไม่มีค่าธรรม เนียมกรณีที่วงเงินที่โอนไม่เกิน 5,000 บาท แต่คนกับไม่ค่อยใช้”

นายอารักษ์กล่าวและว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น ให้ผู้รับโอนต้องผูกบัญชีกับพร้อมเพย์มากยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องความปลอดภัย และความสะดวก เช่นแคมเปญ “SCB พร้อมเพย์ แท็กซี่เดลิเวอรี่พร้อมรับ” เราพบว่าได้รับการตอบรับจากแท็กซี่ว่ามีความปลอดภัยไม่ต้องถือเงิน สด ในขณะเดียวกันก็มี SMS มาแจ้งว่าเงินเข้าแล้ว

นอกจากนี้การจ่ายบิลก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกที่ทำให้คนจ่ายผ่านพร้อมเพย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะเห็นในรูปของสาขาในห้างสรรพสินค้า แต่ในอนาคตคิดว่าน่าจะเป็นลักษณะที่กะทัดรัดยิ่งกว่านั้น เป็นรูปแบบของ Kiosk หรือรูปแบบ Direct banking ซึ่งมีแต่เครื่อง อาจมีพนักงานเพียง 1 คนคอยให้คำแนะนำ ในการใช้เครื่อง

นอกจากในเรื่องธุรกิจแล้ว ไทยพาณิชย์ยังให้น้ำหนักกับกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมด้วย โดย “อารยา ภู่พานิช” รอง ผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกิจกรรมเพื่อสังคม ภาพลักษณ์ และสื่อสารองค์กร เล่าว่า ในอดีตกิจกรรมเพื่อสังคมของ ไทยพาณิชย์จะเป็นกิจกรรมในด้านศิลปวัฒนธรรม วัด โรงเรียน แต่ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการของธนาคารให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาเยาวชน เพราะไม่ต้องการให้เด็กๆ มุ่งเน้นที่ความเก่งอย่างเดียว แต่ต้องเน้นในเรื่องของคุณธรรมควบคู่ไปด้วย

“ธนาคารของเราอาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเยาวชน จึงดำเนินงานผ่านมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งจะทำงานร่วมกับหลายๆ องค์กร ทั้งในด้านการรณรงค์ในเรื่องของคุณธรรม การพัฒนาชุมชน รวมไปถึงการนำเยาวชนบางส่วนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา”

อารยากล่าวและว่า ในฐานะที่เป็นผู้ ที่ดูแลงานในส่วนซีเอสอาร์ เห็นถึงความสำคัญในการสร้างผลกระทบ จึงเริ่มที่จะมุ่งเน้นไปที่โครงการที่สร้างความยั่งยืน และสร้างผลกระทบ ได้มากกว่า แทนที่จะมุ่งเน้นที่จำนวนโครงการซึ่งเริ่มดำเนินการ มา 2 ปีแล้ว

จัดสัดส่วน 40% สำหรับโครงการเพื่อเด็กและเยาวชน อีก 30% สำหรับโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น โครงการบริจาคโลหิต หรือโครงการสนับสนุนการผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนที่เหลืออีก 30% จัดสรรไว้สำหรับกิจกรรมอื่นๆ

งบประมาณด้านซีเอสอาร์จะจัดสรรไว้ประมาณ 1% ของกำไร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 กว่าล้านบาท ส่วนหนึ่งจัดสรรไว้สำหรับโครงการที่ดำเนินต่อเนื่อง เช่น โครงการในพระราชดำริที่ร่วมกับมูลนิธิต่างๆ ไม่ว่าจะมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิอุทกพัฒน์ เป็นต้น

ส่วนโครงการเพื่อความยั่งยืนนั้น ธนาคารวางแผนปลูกฝังจิตสำนึกแก่พนักงานซึ่งมีมากกว่า 2 หมื่นคน ให้เห็นประโยชน์ของการทำเพื่อชุมชน และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในพื้นที่ที่ขยายผลออกไป และทำให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ยืนได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

เช่น โครงการปิดทองหลังพระ ในจ.อุดรธานี ที่ประชาชนในพื้นที่นั้นมีรายได้ต่ำมาก ทางโครงการได้เข้าไปช่วยพัฒนาแหล่งน้ำ ให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาอาชีพแก่คนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน รายได้ของชาวบ้านสูงขึ้น

ขณะนี้อยู่ในช่วงเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการ ซึ่งเล็งพื้นที่ใน จ.เชียงราย และสวนสุขใจ ในบริเวณสวนสามพราน ซึ่งมีเรื่องของการทำสวนปลอดสารพิษ และการหาตลาดให้กับชุมชน ที่เราเห็นว่าน่าจะเข้าไปช่วยเหลือได้

“ไทยพาณิชย์ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อการสร้างแบรนด์ แต่มุ่งที่จะตอบแทนต่อสังคม หลายโครงการเราดำเนินมาอย่างยาวนานโดยไม่ได้ประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด เช่น โครงการปลูกป่ากับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่ดำเนินมา 20 ปีแล้ว ปัจจุบันป่าดังกล่าวเป็นป่าที่หนาแน่น เช่น ป่าที่ดอยตุง ปัจจุบันเป็นแหล่งรายได้สำหรับคนในพื้นที่ แต่สิ่งที่เราอยากได้ คือพนักงานของเราร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม”

ทั้งแผนธุรกิจรวมถึงกิจกรรมด้านสังคมต่างๆ ถือว่าไทยพาณิชย์ปรับเปลี่ยนไปพอสมควร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและการเงินโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน