นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คาดปีนี้ความการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในประเทศปีนี้พีก 32,059 เมกะวัตต์ โต 3.5% จากปีก่อนพีก 30,973 เมกะวัตต์ ภายใต้คาดการณ์อุณหภูมิในช่วงหน้าร้อนปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส โดยคาดสูงสุดที่ 40 องศาเซลเซียสช่วงปลายเดือนมี.ค.-กลางเดือนพ.ค. ในพื้นที่ภาคกลาง

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย.นี้ ที่จะเกิดการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา ณ ประเทศเมียนมา ซึ่งถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักในการผลิตไฟฟ้า ที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาสูงถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และถือเป็นช่วง 9 วันอันตราย เนื่องจากมีผลให้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า และภาคขนส่ง หายไปจากระบบมากกว่า 20% ซึ่งกระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อมโดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าในประเทศให้เพียงพอรองรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนนี้ เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าตก ดับ และกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาพรวม

โดยเบื้องต้น กระทรวงพลังงานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ทดแทนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป รวมถึงประสานโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศลาว ให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ โดยในส่วนความพร้อมของเชื้อเพลิง จะสำรองน้ำมันให้เพียงพอก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซ ซึ่งจะสำรองการใช้น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าราชบุรี การสำรองน้ำมันดีเซล โรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น รวมถึงขอให้ความมั่นใจกับประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว ผนวกกับการใช้ไฟฟ้าหน้าร้อนที่คาดว่าสภาพอากาศจะมีอุณหภูมิร้อนจัด และจะเกิดพีกที่คาดว่าในปี 2560 นี้ น่าจะเกิดพีกสูงเกิน 30,000 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันยังรณรงค์ทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันประหยัดไฟฟ้าผ่านมาตรการง่ายๆ เช่น การปิดดวงไฟที่ไม่ใช้ การปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา การเปลี่ยนมาใช้หลอดแอลอีดี เป็นต้น รวมทั้งจะมอบหมายให้กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินมาตรการขอความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการให้ภาคเอกชน ลดการใช้พลังงานลงด้วยความสมัครใจ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชย 3 บาทต่อหน่วย มีเป้าหมายลดใช้ไฟฟ้าพื้นที่กรุงเทพฯ ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงครามและสมุทรสาคร และมีเป้าหมายลดกำลังผลิตรวม 400 เมกะวัตต์

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. กล่าวว่า ปีนี้ กกพ. จะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบหลากหลายประเภท เริ่มจากโซลาร์ฟาร์มภาคราชการ ระยะที่ 1 ที่จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบจนครบ 280 เมกะวัตต์ในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (เอสพีพี ไฮบริด) จำนวน 300 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบเดือนมิ.ย.-ก.ค. และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของเอกชนขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) จะเข้าระบบในเดือนก.ย.-ต.ค. โดยยอมรับว่าการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของพลังงานทดแทนหลายประเภท จะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2560 ปรับขึ้นประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย และมีทิศทางขาขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน