นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 มีมติเห็นชอบการลงทุนเพื่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. บนพื้นที่ประมาณ 660 ไร่ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ภายใต้วงเงินงบประมาณโครงการ 700 ล้านบาท ตอบสนองนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นประตูเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศ ควบคู่กับการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน

“ทันทีที่ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการฯ ไม่เพียงส่งผลให้ กนอ. สามารถดำเนินงานก่อสร้างนิคมได้ทันที แต่ยังช่วยเร่งรัดการตัดสินใจของนักลงทุนในการเข้าลงทุนในนิคมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมา กนอ. ดำเนินการสรรหาผู้รับเหมางานก่อสร้างในระยะที่ 1 (การก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูป สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 3 หลัง (5 ยูนิต) และอาคาร/ลานประชารัฐ สำหรับผู้ประกอบการชุมชน/ท้องถิ่น (โอท็อป) จำนวน 20 ราย เตรียมพร้อมไว้แล้ว เพื่อให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จทันกำหนดพิธีเปิดนิคมอย่างเป็นทางการในเดือนมิ.ย. 2560 จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างนิคมให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2561 ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถเริ่มทยอยเข้าดำเนินการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ได้ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2560 เป็นต้นไป”

โครงการดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนใน จ.สระแก้ว ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การจ้างงานในพื้นที่ ทั้งการจ้างงานระยะสั้นในช่วงก่อสร้างนิคม และการจ้างงานระยะยาวจากผู้ประกอบการธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในนิคม 2.การกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่นิคม และพื้นที่โดยรอบนิคม โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่พักอาศัย พื้นที่สันทนาการและบันเทิง ตลอดจนการค้าขาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการมีนิคม 3.การพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการพัฒนานิคมของ กนอ. จะดำเนินการภายใต้แนวคิดนิคมเชิงนิเวศ ซึ่งคำนึงถึงการอนุรักษ์ และมีระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่นิคมมีคุณภาพที่ดี

ขณะที่ประเทศชาติก็ได้รับประโยชน์ทางด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการประกอบกิจการที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิต รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับพื้นที่นิคม ตลอดจนการสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน