น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การปลูกข้าวรอบ 3 หรือนาปรังรอบ 2 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทางกระทรวงเกษตรฯจึงขอความร่วมมือจากชาวนา ที่ยังไม่ปลูกข้าว อย่าปลูกข้าวเพิ่มอีก เพราะขณะนี้การปลูกข้าวถือว่าสูงกว่าแผนที่วางไว้ อาจกระทบกับแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตขาดน้ำ หรือแล้ง กระทรวงเกษตรฯ จึงแจ้งให้จังหวัดรับทราบ และให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวง ลงพื้นที่ทำความเข้าใจพี่น้องชาวนาขอความร่วมมืองดปลูก ซึ่งต้องเข้าใจว่าน้ำมีจำกัด หากแย่งน้ำกันใช้ น้ำจะไม่พอ นาข้าวอาจจะเสียหายได้

แหล่งข่าวจากกรมชลประทาน กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ กังวลกับสถานการณ์น้ำอย่างมาก เพราะปี 2560 น้ำต้นทุนมีไม่มากเนื่องจากแล้งสะสมมา 2 ปี และการปลูกข้าวเกินแผนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง โดยกรมชลประทานรายงานในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงครั้งล่าสุด ว่า สถานการณ์น้ำ และการปลูกข้าวของชาวนายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณ 11.06 ล้านไร่ เกินแผน 4.13 ล้านไร่ หรือ 60% จากแผนที่วางไว้ 6.93 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.37 ล้านไร่ เหลือรอเก็บเกี่ยว 8.73 ล้านไร่

แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเหลือรอเก็บเกี่ยว ในเขตชลประทาน 5.61 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.72 ล้านไร่ รวมเหลือ 8.33 ล้านไร่ โดยในเขตชลประทานทั้งประเทศ วางแผน 4.00 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 7.54 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.65 ล้านไร่ เหลือรอเก็บเกี่ยว 5.93 ล้านไร่นอกเขตชลประทานทั้งประเทศ วางแผน 2.93 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 3.52 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.72 ล้านไร่ เหลือรอเก็บเกี่ยว 2.80 ล้านไร่

จากเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้ง 34 เขื่อน และ แหล่งน้ำอื่นๆ นอกจากการนำน้ำไปใช้ในการเกษตร ยังต้องมีการสำรองน้ำ เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เริ่มต้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้า จากนั้นนำจะนำไปใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร การอุตสาหกรรม และ อื่นๆ ลองพิจารณาต่อไปว่ากิจกรรมใดจำเป็นสำคัญ อันดับแรก คือ การอุปโภคบริโภค หรือ น้ำต้นทุนทำน้ำประปา ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากหลายสิบล้านคนต้องใช้ประโยชน์จากน้ำต้นทุนนี้ โดยปกติคนไทยใช้น้ำในทุกกิจกรรมเฉลี่ย 150-200 ลิตร/คน/วัน ซึ่งน้ำที่ใช้นี้ยังต้องมีระดับความเค็มน้อยมาก บางครั้งต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนมาดันน้ำทะเล เพื่อให้น้ำต้นทุนประปาจืดพอ น้ำอุปโภคบริโภคขาดไม่ได้

การใช้น้ำรักษาระบบนิเวศน์ คือ การรักษาระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองให้สูงพอ เพื่อรักษาแรงดันน้ำไม่ให้ดินทรุด หากระดับน้ำลดลงคันคลอง คันถนน พื้นที่รอบๆ จะทรุดตัวมาก ตามที่ปรากฏในข่าวต่างๆ ส่วนที่สาม คือ พืช สัตว์น้ำ รวมทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น ซึ่งอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำใกล้ชายทะเล สามารถทนความเค็มได้ระดับหนึ่ง หากระดับน้ำเค็มมากพืช สัตว์เหล่านี้ จะอยู่ไม่ได้ และต้องใช้ระยะเวลานานมากในการฟื้นฟู จึงจำเป็นต้องมีน้ำส่วนหนึ่งเพื่อลดความเค็ม

ทั้งนี้ จากสถานการณ์หลายปีที่อากาศแปรปรวนมาก สภาพลมทะเลทำให้เกิดความสูงของคลื่นมาก ทำให้น้ำทะเลหนุนมากขึ้น ก่อนเริ่มต้นฤดูแล้งในวันที่ 1 พ.ย. ของทุกปี ฝนอาจจะมาไม่ตรงตามฤดูกาล หรือฝนทิ้งช่วง จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้ส่วนหนึ่งให้เพียงพอถึงต้นเดือน ส.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน