นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ของเกษตรกรในการขายผลผลิตทางการเกษตร ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และดูแลค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน พาณิชย์ภาค และพาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และเป็นที่น่ายินดีว่า ในปีนี้ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ ยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และหอมแดง เป็นต้น

สถานการณ์สินค้าหอมแดงในฤดูการผลิตปี 2559/60 มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 50,900 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.5 มีผลผลิตกว่า 100,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12.4 เนื่องจากราคาหอมแดงที่เกษตรกรขายได้ในช่วงปี 2559 มีราคาสูงกว่าปีก่อนประมาณร้อยละ 36 ซึ่งหอมแดงปลูกมากใน จ.ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา เพชรบูรณ์ เป็นต้น

โดยจ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกหอมแดงประมาณ 29,400 ไร่ ปีนี้ได้ผลผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากภูมิอากาศเอื้ออำนวย ขณะนี้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำออกสู่ตลาดเกือบทั้งจำนวน ยกเว้นเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูการผลิตปี 2560/61 ด้านราคาซื้อขายหอมแดง ณ ตลาดท่าเรือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ (20 มี.ค. 2560) ราคาหอมแดงมัดจุกขนาดใหญ่ 26-28 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีเช่นเดียวกับปี 2559

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกหอมแดงที่สำคัญหลายจังหวัด ซึ่งน.ส.อรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะพาณิชย์ภาค 2 (Mini MOC 2) รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลผลิตหอมแดงในภาคเหนือกำลังออกสู่ตลาด โดย จ.ลำพูน มีผลผลิตมากที่สุด ประมาณ 32,400 ตัน ออกสู่ตลาดไปแล้วประมาณร้อยละ 85 ของผลผลิต

ส่วนจ.เชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ ผลผลิตหอมแดงเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ราคาซื้อขายในพื้นที่กิโลกรัมละ 35-40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาและเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ ทั้งนี้ จ.เพชรบูรณ์ นอกจากจะมีพื้นที่ปลูกหอมแดงแล้ว ยังเป็นแหล่งรับซื้อและรวบรวมสินค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้ส่งออกหอมแดงรายใหญ่ จะรวบรวมสินค้าในพื้นที่ส่งออกไปประเทศมาเลเซีย ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย

ด้านการเชื่อมโยงการค้าขายภายในประเทศ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกหอมแดง และจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแผนร่วมกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการแปรรูปหอมแดงตามความต้องการของตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ผลิตหอมเจียวและเครื่องปรุงรสอื่นๆ ผ่านการรับรองเป็นสินค้าฮาลาลขายภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และผลักดันไปตลาดตะวันออกกลาง เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าการค้าให้สูงขึ้น เนื่องจากตลาดนี้มีความต้องการสินค้าดังกล่าวสูง

“การบูรณาการการทำงานของพาณิชย์ภาคและพาณิชย์จังหวัดเพื่อดูแลเกษตรกรและผู้บริโภคให้สามารถซื้อขายสินค้าได้ในราคาที่เป็นธรรมรวมทั้งมีการเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ การแปรรูปของสินค้าตามความต้องการของตลาด เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน และประเทศโดยรวม” นางอภิรดีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน