สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ปรับลดเป้าส่งออกข้าวปีนี้ลงไม่เกิน 9 ล้านตัน ชี้ ปัญหาภัยแล้งหากรุนแรง คาดจะกระทบผลผลิตในภาพรวม และมีโอกาสฉุดราคาข้าวหอมมะลิให้มีราคาสูงขึ้นเป็น 36,000 บาทต่อตัน ส่งผลกระทบการส่อออกข้าวในภาพรวมของไทยหืดขึ้นคอแข่งยากในตลาดโลก

หั่นส่งออกข้าวปีนี้ไม่ถึง 9 ล้านตัน – นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยเดือนมิ.ย. 2562 ว่า ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 5.78 แสนตัน ต่ำสุดในรอบปีตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่การส่งออกข้าวตกต่ำที่สุด ส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกไทยสามารถส่งออกข้าวได้เพียง 4.36 ล้านตัน ลดลง 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น สมาคมจึงปรับลดคาดการณ์ส่งออกข้าวปี 2562 ลง จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 9.5 ล้านตัน ลดเหลือไม่เกิน 9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินหากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงคาดว่าจะกระทบต่อผลผลิตข้าวในภาพรวม ซึ่งกรณีร้ายแรงสุดหากฝนไม่ตกในเดือนส.ค. จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวหอมมะลิลดลงเหลือ 4-4.5 ล้านตัน หรือหายออกจากตลาดประมาณ 40-50% จากภาพรวมปริมาณข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8-9 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวเปลือหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้นจาก 16,000 บาทต่อตัน เพิ่มเป็น 25,000 บาทต่อตัน และราคาข้าวสารหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 36,000 บาท แต่อย่างไรก็ดี สมาคมฯ จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนแนวทางการช่วยเหลือทางสมาคมอยากให้รัฐบาลเตรียมมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

“แม้ราคาข้าวมีแนวโน้มจะสูงขึ้น แต่จะสูงขึ้นเฉพาะราคาในประเทศเท่านั้นชาวนาที่ปลูกข้าวจะได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น แต่จะมีชาวนาอีกจำนวนมากที่สูญเสียรายได้จากการที่ไม่ได้ปลูกข้าวเพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อชดเชยรายได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้ไปจำนวนมาก และการส่งออกข้าวไทยก็จะทำได้อย่างลำบากมากยิ่งขึ้นเพราะไม่มีข้าวเพื่อการส่งออกบวกกับราคาข้าวไทยปกติก็แข่งขันยากอยู่แล้วจากปัจจัยค่าบาทแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันและประเทศคู่แข่งที่ส่งออกข้าว” นายเจริญ กล่าว

นายเจริญ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 4.7% แต่ค่าเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่าลง 0.1% ค่าเงินรูปีของอินเดียแข็งค่าขึ้นเพียง 0.7% ส่วนค่าเงินรูปีของปากีสถานอ่อนค่าลงถึง 14.5% ทำให้ราคาข้าวไทยเเพงขึ้น ขณะที่ประเทศจีนมีสต๊อกปริมาณข้าวมากทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวลดลง และประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญมีการปรับนโยบายในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ มีการปรับนโยบายนำเข้าข้าวโดยให้เอกชนมีบทบาทในการนำเข้ามากขึ้นส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีมากขึ้น และภาวะภัยแล้งในประเทศไทยที่อาจส่งผลให้ผลผลิตข้าวมีปริมาณลดลง และราคาอาจสูงขึ้น

นายเจริญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของเอกชนก็หวังว่าภาครัฐจะเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการวางแผนนโยบายด้านการส่งออกข้าวทั้งระบบ โดยหวังให้รัฐบาลดูแลการบริหารจัดการข้าวจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รมต.กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาจากพรรคเดียวกันก็น่าจะมีการประสานงานได้ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน