เปิด‘ข้อมูลร้อน’อีกด้าน ปมพิพาท‘ค่าโง่’ทางด่วน

‘ค่าโง่’ทางด่วน – เป็นเรื่องร้อนที่หลายฝ่ายจับตาดูว่าจะมีบทสรุปอย่างไร สำหรับกรณีข้อพิพาททางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่ “ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษาให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จ่ายเงินชดเชยให้กับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (จำกัด) มหาชน หรือ BEM เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท

ซึ่งถ้าพิจารณาจากคำพิพากษาก็ชัดเจนว่า “ต้นเหตุ” ล้วนเกิดจากการ “ผิดสัญญา” เรื่องการสร้างทางแข่งขัน และ “ผิดสัญญา” เรื่องการขึ้นค่าผ่านทาง โดยมีจุดประสงค์หวังผลทางการเมือง หวังสร้างความนิยมจากประชาชน นำมาซึ่งความเสียหายในครั้งนี้

เป็นความผิดพลาดที่จงใจผิดสัญญา ไม่ใช่เรื่องที่เอกชนหาช่องทางเอารัดเอาเปรียบ ไม่เหมือนกรณีคลองด่าน หรือ โฮปเวลล์ ที่รัฐบาลต้องแบกภาระค่าโง่มหาศาล

เรื่องดังกล่าวจึงบานปลายจนเป็นปัญหาที่รัฐบาลต่อมา ต้องพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา ไม่ให้ความเสียหายลุกลามบานปลายยิ่งขึ้นเพราะคดีที่พูดคุยกันอยู่เป็นเพียงแค่คดีแรก ระหว่าง กทพ. กับ BEM แต่ยังมีข้อพิพาทกันอีก 16 คดี หากศาลพิพากษาตามแนวที่วางไว้ จะรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 137,517 ล้านบาท

เมื่อรวมดอกเบี้ยและระยะเวลาการต่อสู้คดีที่คาดว่าจะจบภายในปี 2578 มูลค่าข้อพิพาทจะสูงทะลุ 3 แสนล้านบาท เป็นเงินมหาศาลซึ่งหากต้องรับผิดชอบจริงๆ ต้องมีบางองค์กร ล้มละลายแน่นอน

ส่งผลให้รัฐบาลชุดที่ผ่านมา มีดำริให้ กทพ.ไปเจรจาร่วมกับ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทดังกล่าว กระทั่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นพร้อมตีราคาความเสียหายจากข้อพิพาทนี้ เป็นมูลค่า 58,000 ล้านบาท หรือลดลงเกินครึ่ง

แลกเปลี่ยนกับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนให้กับ BEM อีก 30 ปี โดยการแบ่งผลประโยชน์ของเอกชนกับรัฐ ยังคิดอัตราเดิมที่ 60 : 40 และไม่ใช่ว่าเอกชนจะอยู่ในสภาพเสือนอนกินได้ เพราะยังมีข้อแม้ให้ BEM ต้องรับผิดชอบขยายทางด่วน 2 ชั้น หรือ “ดับเบิ้ลเด๊ก” เพื่อลดปัญหาการจราจร

หากจบปัญหาด้วยดีลนี้ได้เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้เสียค่าโง่ใดๆ เซฟเงินงบประมาณ และยังให้เอกชนรับผิดชอบสร้างทางเพิ่ม

เป็นประโยชน์ถึง 2 ต่อแต่ก็มีคำถามว่า แล้วทำไมถึงมี ข้อขัดข้องเกิดกลายเป็นคำถามว่าแล้วเหตุใดจึงมีเสียงคัดค้าน ไม่ต้องการให้ต่อสัญญาสัมปทาน แถมยังเสนอให้จ่ายเงินชดเชยทันที 4,318 ล้านบาท แล้วเดินหน้าต่อสู้อีก 16 คดีที่เหลือ

หากถึงจุดสิ้นสุด ความเสียหายก็เพิ่มเป็นหลักแสนล้าน หากเป็นเช่นนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบ ‘สิ่งที่น่าสนใจ’ หลายอย่าง ซ่อนอยู่ภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างในหลากหลายกรณี ทั้งระบบโปรแกรมการใช้งานจัดเก็บข้อมูล การจัดซื้ออีซี่พาส กล้องวงจรปิด หรือกระทั่งสเป๊กของหน่วยงานที่รับงานต่อเนื่อง จนมีความพยายามที่จะยื่นเรื่องให้ “สตง.” ตรวจสอบมาแล้ว

ดังนั้นหาก กทพ. นำทางด่วนมาบริหารเอง เท่ากับว่าจะได้บริหารงบประมาณมหาศาล แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดขึ้น จะคุ้มค่ากว่าที่ให้เอกชนบริหารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ตามข้อตกลงหรือไม่นั่นเป็นคำถามที่ตอบได้อย่างลำบาก

นอกจากนี้หากเช็กชื่อไปแล้วผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่พยายามทำให้การเจรจายุติข้อพิพาทไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎร ต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณาโดยเฉพาะอย่าง “นพ.ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ก็ถูกตั้งคำถามถึงบทบาทการทำหน้าที่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวก่อนหน้านี้ที่นำม็อบทวงคืนพลังงาน ไปบุกปิดกระทรวงพลังงาน จนถูกศาลพิพากษาจำคุก ขณะที่คดีแพ่งถูกสั่งให้ชดเชยร่วม 100 ล้านบาท ซึ่งไม่ทราบว่าได้จ่ายชำระหนี้ไปแล้วเท่าใดแถมเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมาธิการฯ กลับไปปรับเปลี่ยนมติของที่ประชุมกรรมาธิการฯ

จากเดิมให้เรียกตัวแทนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง 3 ราย กลับเปลี่ยนมติเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพียงรายเดียว สร้างความงุนงงให้สังคม รวมทั้งกรรมาธิการด้วยกัน โดยเฉพาะนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร และส่อเค้าจะเป็นคดีความที่ นพ.ระวี ต้องเผชิญในอนาคต

พร้อมกับคำถามว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา มีเจตนาใดอีกหรือไม่ นอกเหนือจากสิ่งที่ระบุว่าทำเพื่อประโยชน์ของชาติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารก็น่าจะไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง เมื่อการพิจารณาดังกล่าวดำเนินการโดยผู้ที่มีคุณวุฒิ และรับฟังความเห็นรอบด้าน

ทั้งยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้หน่วยงานของรัฐอย่างกทพ. เสียเปรียบเอกชน และแน่นอนว่าต้องไม่เสียรู้จนถึงขั้นรับภาระค่าชดเชยอีกแสนล้านโดยไม่จำเป็น

และหน่วยงานสำคัญที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบเช่นกัน คือกระทรวงคมนาคม ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม คนใหม่ ยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่ยืดเยื้อให้ต้องปวดหัวอีกต่อไป

จึงต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ถูกการเจรจาลดความเสียหายลงเหลือ 58,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐได้รับส่วนแบ่งในอัตราเดิมอย่างที่เป็นมาแถมยังได้ทางด่วนใหม่ เพิ่มช่องทางจราจรแก้ไขปัญหารถติด

หากผลออกมาเช่นนี้ก็ไม่มีทางเลยที่จะเรียกได้ว่า ‘ค่าโง่’ แต่เป็นการยุติปัญหาข้อพิพาทที่มีบทสรุปที่ดีทั้ง 2 ฝ่าย

แต่หากทู่ซี้สู้คดีต่อ แล้วต้องแพ้คดีตามแนวทางที่ศาลปกครองพิพากษาไว้ จบที่การชดเชยมหาศาลนับแสนล้านบาท ต้องนำเงินภาษีชาวบ้านไปชดใช้..

นั่นแหละเข้าข่ายคือ ‘ค่าโง่’ ที่แท้จริง

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน