พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ว่า ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอกระทรวงพาณิชย์ ให้ออกประกาศเพื่อควบคุมการนำเข้าไก่ปู่ย่าพันธุ์ (จีพี) และไก่พ่อแม่พันธุ์ (จีเอส) โดยอาศัยกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 เพื่อแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด

โดยกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำหนดกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดรับกับประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เช่น หากผู้ประกอบการจะนำเข้าไก่จีพี จีเอส ทุกรายจะต้องผ่านความเห็นชอบจากมติเอ้กบอร์ด คาดเอ้กบอร์ดจะใช้เวลาออกระเบียบและหารือทุกภาคส่วนให้เเล้วเสร็จในอีก 4-5 เดือน เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ต้องมีการร่างประกาศและทำประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน

“เดิมโควตาที่เอ้กบอร์ดกำหนด เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ทำให้เกิดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ได้อย่างเสรี จนเกิดปัญหาการนำเข้าจำนวนมากเกินความต้องการ ทำให้ที่ประชุมเอ้กบอร์ดคิดจะนำกฎหมายพาณิชย์มาใช้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผู้ประกอบการไม่ปลดแม่ไก่ยืนกรงออกจากระบบตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากเห็นว่าไข่และไก่ราคาดี ทำให้มีผลผลิตออกมาจำนวนมากจนเกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำและมีการดัมพ์ราคาในภาคใต้ ต่อไปจึงต้องมีการกำหนดเกณฑ์ว่ากี่สัปดาห์ต้องปลดแม่ไก่ยืนกรง และถ้าผู้ประกอบการใดไม่ปลดแม่ไก่ยืนกรงจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับสูงสุดถึง 1 ล้านบาท”

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า เงื่อนไขใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต ผู้ประกอบการที่จะขยายฟาร์มที่ได้สิทธิ์โควต้า 300,000 ตัวขึ้นไป ต้องรายงานแผนการผลิต การตลาดกลับมายังเอ้กบอร์ดก่อนการผลิตและจำหน่าย โดยในแผนต้องระบุว่า ผลิตไข่ไก่ที่ไหน กระบวนการฟาร์มเป็นอย่างไร มีตลาดรองรับหรือไม่และส่งออกจำหน่ายที่ใดบ้าง เพื่อตีกรอบการผลิตให้สอดคล้องกับการบริโภคในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มติที่ประชุมยังมีแผนการส่งเสริมบริโภคไข่ในประเทศในโครงการอาหารโรงเรียน โดยให้โรงเรียนเพิ่มเมนูซึ่งประกอบด้วยไข่ไก่ในมื้ออาหารกลางวันของเด็กนักเรียนเป็นอาทิตย์ละ 3 ฟองต่อสัปดาห์ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขสำรวจพบว่า โครงการอาหารกลางวันแต่ละโรงเรียนให้นักเรียนทานไข่เพียงอาทิตย์ละ 1-2 ฟองต่อสัปดาห์เท่านั้น โดยให้โรงเรียนประสานโดยตรงจากสมาคมหรือสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุมเอ้กบอร์ดได้พิจารณาแผนนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ ปี 2560 โดยกำหนดปริมาณปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ 6,000 ตัว และนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ 600,000 ตัว จัดทำแผนการนำเข้าเพื่อรายงานไปยังกรมปศุสัตว์ และการนำเข้าทั้งสองจะต้องสอดรับกับผลผลิตในประเทศ ส่วนการวางแผนควบคุมการผลิตไข่ไก่ให้เกิดความสมดุลทั้งการบริโภคและส่งออก คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ฯ ได้ประมาณการผลผลิตไก่ไข่ ไข่ไก่ โดยได้ประมาณการผลผลิตไก่ไข่ ปี 2560 จำนวน 55.64 ล้านตัว ผลผลิตไข่ไก่ จำนวน 16,473 ล้านฟอง และประมาณการตลาดไข่ไก่ส่งออก จำนวน 420 ล้านฟอง และไข่ไก่บริโภคในประเทศ จำนวน 16,053 ล้านฟอง และมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ประสานร่วมกับกรมการค้าภายใน และภาคเอกชน พิจารณาเรื่องการบริหารจัดการการผลิตไข่ไก่ให้สมดุลกับการตลาด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคาไข่อยู่ในสภาวะปกติ โดยราคาไก่ไข่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยฟองละ 2.50 บาท ราคาไข่ไก่ขายปลีกเบอร์ 3 ฟองละ 2.55 บาท ซึ่งราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. ที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ฟองละ 2.10 บาท เนื่องจากขณะนั้นผลผลิตล้นตลาด ประกอบการการทุ่มตลาดไก่ไข่ภาคใต้ ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตไข่ไก่ปี 2560 จะมีปริมาณไก่ไข่ประมาณ 55.64 ล้านตัว ไข่ไก่ 16,473 ล้านฟอง โดยคาดว่าจะส่งออก 420 ล้านฟอง บริโภคในประเทศ 16,053 ล้านฟอง

ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำภาคใต้ หลังผลผลิตล้นตลาด จนราคาเหลือเพียงฟองละ 1.50 บาท ถึง 1.70 บาทเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้ยอดการบริโภคไข่ไก่ลดลง จากโดยเฉลี่ยวันละ 42-45 ล้านฟอง/วัน เหลือเพียง วันละ 40 ล้านฟอง /วัน ทำให้มีผลผลิตตกค้างในสต๊อกเฉลี่ยวันละ 3-5 ล้านฟอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน