นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเยียวยาเกษตรกร กรณีที่พบว่าหัวหน้าครัวเรือนเกษตรตามทะเบียนเกษตรกรกว่า 100,000 รายเสียชีวิต จะต้องโอนเงินให้ทายาทหรือไม่นั้น โดยหลักที่มอบผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ไปพิจารณา คือ วันนี้เงินเยียวยาจะช่วยพี่น้องคนไทยที่เป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น การพิจารณาให้เงินเยียวยาไม่ใช่เฉพาะทายาท ทุกๆ กลุ่ม แต่อะไรที่ไม่ใช่เงื่อนไขที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ระบุหรือกำหนดมา กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่พิจารณาให้การเยียวยาหมด เว้นแต่กรณีที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว ตรงนั้นเราไม่สามารถปฏิเสธได้เพราะผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย

ส่วนที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ให้กระทรวงเกษตรฯ ไปทำเรื่องยืนยันกับทายาทของครัวเรือนเกษตร ถ้าพ่อแม่เสียชีวิตแต่ลูกยังทำเกษตรอยู่ ทางกระทรวงเกษตรฯ สามารถส่งชื่อมาให้จ่ายเงินได้นั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า “เราพิจารณาอยู่แล้ว บอกแล้วว่าเราคำนึงถึงความเดือดร้อนเป็นหลัก ส่วนการแจ้งให้ทายาทมาอัพเดตทะเบียนเกษตรกร ต้องถามนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาตรงนี้พิจารณาอยู่แล้ว และรวมถึงทั้งเรื่องการอุทธรณ์ ซึ่งขอฝากพี่น้องเกษตรกรที่ถูกตัดสิทธิ์ขอให้ทุกท่านไปยื่นอุทธรณ์กับหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนไว้ในภูมิภาคทุกที่ และขอให้เชื่อมั่นว่าการพิจารณาการอุทธรณ์มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ท่านรู้เป้าหมายความต้องการของรัฐบาลและรู้ความเดือดร้อนของประชาชน มั่นใจว่าจะดูแลให้พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นธรรมที่สุด”

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า “กรณีหัวหน้าทะเบียนเกษตรกรเสียชีวิตกว่า 100,000 ราย จะไม่ใช้แนวคิดต้องโอนเงินไปให้ทายาททดแทนเพราะการช่วยเหลือครั้งนี้ช่วยคนที่ยังอยู่และได้รับผลกระทบให้ประคองชีวิต นี่คือหลักของการช่วยเหลือ แต่กรณีที่หัวหน้าครัวเรือนเกษตรกรเสียชีวิต ผมถามว่า สมมติพวกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรพอหัวหน้าครัวเรือนตาย ครัวเรือนยังทำเกษตรอยู่มั๊ย ถ้าลูกเขายังทำการเกษตรอยู่และเป็นเกษตรกรอยู่ถามว่าควรได้รับสิทธิ์มั๊ย ไม่เกี่ยวกับพ่อแม่ตายไม่ตายนะ แต่ก็ต้องทำการอัพเดตทะเบียน ตอนนี้ผมบอกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่บอกมีคนตายเป็นแสนให้ส่งข้อมูลมาที่ตนเอง และถ้าขึ้นทะเบียนกับกรมไหนก็จะส่งกลับไปให้ทบทวน เช่น ให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปตรวจสอบย้อนกลับว่า คนๆ นี้ ตายเมื่อไหร่ และวันนี้ยังทำเกษตรอยู่มั๊ย โดยกรมจะทำหน้าที่อัพเดตเอง เพราะเจ้าตัวเขาไม่รู้”

“จริงๆ ผมยอมรับว่าการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่บอกมีการอัพเดตทุกปีนั้น บางทีชื่อไม่ได้อัพเดต แต่อัพเดตปลุกข้าว เมื่อไหร่ พันธุ์อะไร เช่นเดียวกับการเลี้ยงฟารืมหมูเคยมีอยู่ 12 ตัว ปีนี้พออัพเดตเพิ่มเป็นมี 15 ตัว เป็นการอัพเดตข้อมูลทางการเกษตรมากกว่า แต่ชื่อในทะเบียนไม่ค่อยได้ปรับ คนที่เป็นสมาชิกในครัวเรือนไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็มี เพราะวัตถุประสงค์หลักของการขึ้นทะเบียนเพื่อติดตามข้อมูลทางการเกษตร ไม่ได้เน้นเรื่องหัวหน้าครัวเรือน พอมีกรณีนี้มาตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่า ในเมื่อเพิ่งอัพเดตตอนปี 62/63 เพียงปีเดียวตายเป็นแสนคน ดังนั้น ต่อไปกระทรวงเกษตรฯ จะทำการเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทยด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน