น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ถอนและระงับการนำเข้าสารเคมีพาราควอต ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) เสนอว่าเป็นสารที่เป็นอันตราต่อมนุษย์

โดยกระทรวงสาธารณสุขส่งเรื่องมาให้กรมวิชาการเกษตร ในฐานะนายทะเบียน ทำการตรวจสอบและพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า สารพาราควอต ที่เป็นส่วนประกอบที่เกษตรกรไทยรู้ในนาม กรัมม็อกโซน หรือยาฆ่าหญ้า

ดังนั้นในฐานะที่ดูแลกรมวิชาการเกษตร ตนจึงเชิญตัวแทนเอ็นจีโอเข้ามาคุย พร้อมให้นำเอกสารหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า สารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน แต่ในเวทีการหารือเอ็นจีโอไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้ มีเพียงบทความที่ลงในสื่อต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการถอดถอนสารเคมีหรือห้ามนำเข้าแต่อย่างใด

ดังนั้นจากนี้ต่อไปเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าสารพาราควอตเป็นอันตราต่อคน ต้องถอดถอนออกจากทะเบียนสารเคมีและห้ามนำเข้าหรือไม่

นายธนัษ อภิเวศ ผู้อำนวยการ บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ทบทวนนโยบาย ระงับการนำเข้า จำหน่าย และจะไม่อนุญาตให้ต่ออายุการขึ้นทะเบียนของสารอารักขาพืชหรือ ยาฆ่าหญ้าพาราควอต ภายใต้ชื่อกรัมม็อกโซน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยให้เหตุผลว่าสารพาราควอตมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้

จากการสอบถามเกษตรกรในขณะนี้รู้สึกกังวล เพราะหากมีการถอดถอนสารพาราควอต และต้องหันไปใช้สารชนิดอื่นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยพาราควอตนิยมใช้กันมาก ครอบคลุมเกษตรกรมากกว่า 1.5 ล้านคน ในการปลูกพืชไร่ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ซึ่งบริษัทยืนยันว่าข้ออ้างดังกล่าวยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้ และจัดให้อยู่ในกลุ่มสารที่ไม่อันตรายสูง ในขณะที่สำนักงานปกป้องสหรัฐ หรือ EPA ก็ยอมรับ โดยพาราควอตเป็นสินค้าที่เกษตรกรนิยมใช้มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี

“หากมีการระงับนำเข้าพาราควอตจะทำให้เกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบต้นทุนในการจำกัดวัชพืชจะเพิ่มขึ้น 5-7 เท่า ซึ่งผลกระทบจะไม่เพียงเกษตรกร แม้แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ยังได้รับผลกระทบ เพราะใช้กรัมม็อกโซน หรือพาราควอตในการฉีดฆ่าหญ้าตามรางรถไฟ เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้ไม่เกิดหญ้าปกคลุมราง”

บริษัททำธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 50 ปี ในแต่ละปีจะมีการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับเกษตรกร เพื่อสำรวจผลของการสินค้าของบริษัท พบว่าขณะนี้ เกษตรกรไม่มีปัญหากับการใช้สารพาราควอต เพราะพาราควอตเป็นย่าฆ่าหญ้าชนิดออกฤทธิ์ เห็นผลเร็วและปลอดภัย ภายหลังฉีดหญ้าจะตายทันที เมื่อสารพาราควอตตกถึงพื้น จะสิ้นฤทธิ์จึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในดิน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าสารเคมีอื่นประมาณ 6-7 เท่า และเมื่อเทียบกับสารชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์ช้า ภายหลังใช้แล้วเกษตรกรไม่สามารถลงมือเพาะปลูกได้ทันที

“พาราควอตเป็นสินค้าที่เกษตรกรนิยมใช้มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบันยังมีการใช้ในสหรัฐ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรปหรืออียู อเมริกาใต้ บราซิล ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซียและบังคลาเทศ”นายธนัษ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน