นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างเป็นประธานมอบนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า รัฐบาลจะมีวงเงินให้ สสว. สำหรับตั้งกองทุนใหม่วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยล็อตแรกให้ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำงานในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ปรับปรุง ปิดโหว่ของปัญหาต่างๆ กองทุนนี้นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดขึ้น

เบื้องต้นคาดว่าเงินล็อตแรกจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 7.6 แสนราย โดยเอสเอ็มอีที่จะได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นสมาชิกของ สสว. และเป็นเอสเอ็มอีที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน รวมถึงไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบัน อีกทั้งผู้ขอสินเชื่อต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขไม่เกิน 4 งวด ในโครงการพลิกฟื้นเอสเอ็มอี และโครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอีของ สสว. ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ และภายในเดือนก.ค.-ส.ค. นี้ จะสามารถดำเนินการได้

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด เป็นหน้าที่ของธนาคารออมสินที่ต้องดูว่าต้องเข้าไปเติมอะไรให้ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยดูว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ ผ่านการเติมสภาพคล่องชั่วคราว และการเสริมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากสถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อก็ขอแช่งว่าอย่าอยู่เลย เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่เพื่ออะไร

“เราผ่านประสบการณ์ปี 2540 มาแล้ว ที่ธนาคารกอดลูกค้าเดิมเอาไว้ จะยิ่งตาย ส่วนเรื่องหนี้เสียต้องไปดูว่าทำไมถึงเพิ่ม อย่างปี 2540 ที่เพิ่มเพราะเงินไม่หมุน ตอนนี้ถ้าเรายังทำอย่างนั้น ทั้งระบบหนี้เสียจะพุ่งเร็วมาก เราต้องป้องกันอย่าให้ถึงจุดนั้น ต้องเติมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีหมุนได้ ถ้าหมุนได้หนี้เสียก็ดรอปทันที ต้องช่วยกันอย่าให้ถึงจุดนั้น ไม่อยากให้มองว่าเงินที่มีอยู่ตอนนี้คือข้อจำกัด ถ้าหมดก็ต้องหาเพิ่ม เพราะเอสเอ็มอีคือชีวิตที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ถ้ามัวแต่ลิมิตจะยาก”นายสมคิด กล่าว

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมองสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ว่าจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปอะไรทั้งนั้น

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นการประเมินความช่วยเหลือที่ผ่านมา โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) ทั้งจาก ธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ปล่อยไปได้แล้ว 9 หมื่นล้านบาท โดยหลังจากนี้คงต้องให้เวลาให้ ธปท. และธนาคารพาณิชย์คุยกันในการผ่อนผันเงื่อนไข เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและมากขึ้น และซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินต่างๆ ที่เดินหน้าไปได้ดีพอสมควร

ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ จึงได้มีการหารือว่าจะช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไร โดยจะมีการออกมาตรการเสริมเพื่อช่วยเหลือออกมา โดยเบื้องต้นจะมีการตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าวขึ้นมา โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่ยังไม่มีข้อสรุปในรายละเอียด

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. เตรียมเสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าพิจารณา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงินและไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงิน 50,000 ล้านบาท คาดจะดำนินการได้ภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ประมาณ 500,000 ราย

โดยเบื้องต้นจะเสนอโครงการเติมพลังฟื้นชีวิตต่อทุนเอสเอ็มอีให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท และโครงการฟื้นชีวิตวงเงินให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 1% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี เป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือนิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชนที่มีการจดทะเบียนหรือที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่ต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ ได้แก่ เป็นสมาชิกสสว. เป็นเอสเอ็มอีที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน และต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขไม่เกิน 4 งวด

ทั้งนี้ แนวทางช่วยเหลือจะเสนอให้กำหนดโควต้าจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้าและบริการที่กำหนด คาดจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ เพื่อเริ่มใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ภายในปีงบประมาณ 2564 ช่วยผู้ประกอบการเข้าตลาดรัฐในแต่ละปีที่มีวงเงินสูงมากได้ โดยในปี 2562 มีมูลค่าตลาดภาครัฐทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านล้านบาท คาดจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการกว่า 400,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ให้หน่วยงานรัฐกำหนดแต้มต่อกับผู้ประกอบการที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ 10% ในกรณีที่ใช้การประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุดเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน