เงินเฟ้อ มิ.ย. เริ่มฟื้น แต่ยังติดลบ 1.57% ชี้ผ่านจุดต่ำสุด คาดครึ่งปีหลังสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อน่าจะสามารถกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้แบบค่อยเป็นค่อยไปหลังปลดล็อกจากสถานการณ์โควิด-19 ปรับเป้า เงินเฟ้อของไทยใหม่ทั้งปีอยู่ที่ ติดลบ 1.1%

เงินเฟ้อ มิ.ย. เริ่มฟื้น – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงติดลบ 1.57% แต่ดีขึ้นจาก 3.44% ในเดือนพ.ค. โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 2.53% และสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลง 5.06% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงมากถึง 16.14% อีกทั้งมาตรการของภาครัฐลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลง ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ยังคงมีความเข้มงวดดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชน ทำให้สินค้ายังคงทรงตัวไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สนค. ได้ประเมินว่าตัวเลขเงินเฟ้อของไทยใหม่ทั้งปีอยู่ที่ ติดลบ 0.7 ถึง ติดลบ 1.5% โดยค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 1.1% จากเดิมที่ประเมินไว้อยู่ที่ ติดลบ 0.2 ถึงติดลบ 1.0% โดยค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 0.6% ภายใต้สมมุติฐานมาจากราคาน้ำมันโดยประเมินว่าราคาน้ำมันทั้งปี 2563 อยู่ที่ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ติดลบ 8.6 – ติดลบ 7.6% จากเดิมที่ประเมินไว้อยู่ที่ 5.8 – ติดลบ 4.8% แต่อย่างไรก็ดี แม้จะประเมินเงินเฟ้อทั้งปีติดลบแต่ก็อยู่ในสัญญาณที่ดีขึ้น ติดลบน้อยลง เพราะถือว่าเงินเฟ้อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แม้ครึ่งปีหลังนี้เงินเฟ้อจะติดลบก็ตาม แต่ก็เป็นไปตามสัญญาณและสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งก็มีผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

อย่างไรก็ดี ยังเห็นสัญญาณว่าเงินเฟ้อเริ่มฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดี และช่วงนี้ไม่ใช่ภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน เห็นได้จากสินค้าบางรายการปรับตัวดีขึ้นซึ่งก็เป็นไปตามสัญญาณที่ดีสอดคล้องกับการใช้จ่ายของประชาชน และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ สำหรับครึ่งปีหลังนั้น เชื่อว่าเงินเฟ้อจะดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัว 0.05% เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 1.13% และ เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.32%

“การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ถูกจำกัดในช่วงก่อนหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ทั้งการค้าปลีก การคมนาคม-ขนส่ง และการท่องเที่ยว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชนซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อน่าจะสามารถกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้แบบค่อยเป็นค่อยไป” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนมิ.ย. 2563 จำนวน 422 รายการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 193 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว น้ำมันพืช ต้นหอม ถั่วฝักยาว ผักชี เนื้อสุกร กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ค่าเช่าบ้าน สินค้าลดลง 151 รายการ อาทิ แก๊สโซฮออล์ 91 แก๊สโซฮอลล์ 95 แก๊สโซฮอลล์ E20 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา พริกสด เงาะ และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 78 รายการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน