ลุ้นกระทรวงคมนาคมผุดทางพิเศษชั้นที่ 2 แก้ปัญหาการจราจรติดหนึบบนทางด่วน-มอเตอร์เวย์

ผุดทางพิเศษชั้นที่ 2 – นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองครั้งที่ 1/2563 ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อให้การบริหารจัดการจราจรบนทางพิเศษและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการจราจรติดขัด โดยตน เป็นประธานคณะทำงาน มีรองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กรุงเทพมหานคร ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นคณะกรรมการ ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ สภาพและปัญหาการจราจร

เบื้องต้น สนข. ได้นำเสนอแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งมีเส้นทางที่มีปัญหาการจราจรติดขัด 4 ช่วง ได้แก่ 1. ทางหลวงพิเศษหมายเลข M7 ช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน 3. ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และ 4. ทางด่วนขั้นที่ 1-สะพานพระราม 9-พระราม 2 ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบ สนข. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลการจราจร และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ทบทวน และสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งหมด รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และนำมาเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ทล. และ กทพ. ไปเก็บรวบรวมสถิติปริมาณการจราจรตลอด 24 ชั่วโมง บนโครงข่ายของทางด่วนและมอเตอร์เวย์ทุกเส้นทาง กลับมาเสนอให้ สนข. ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าปัญหารถติดในแต่ละจุด แต่ละแยกเกิดจากอะไร รวมทั้งวิเคราะห์หามาตรการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ จากการหารือพบว่าสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ เกิดจากมีเส้นทางที่มีจุดตัดกันจำนวนมากทำให้รถต้องรถชะลอตัว ,ทางขึ้นลงทางด่วนและมอเตอร์เวย์อยู่ในจุดที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งเกิดจากระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางบริเวณด่านต่างๆ อาจจะยังไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ทางของผู้ขับขี่

“ภายใน 2 สัปดาห์ ทล. และ กทพ. จะเสนอข้อมูลปริมาณจราจร กลับมาให้ สนข. เพื่อวิเคราะห์สาเหตุปัญหาและทางแก้ปัญหา ซึ่งในส่วนของทางแก้ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องก่อสร้างทางด่วนเพิ่มเติม ยกตัวอย่าง เช่น การก่อสร้างทาง ทางพิเศษชั้นที่ 2 (Double Deck) คร่อมบนเส้นทางด่วนเดิมช่วงตั้งแต่ งามวงศ์วาน-โรงพยาบาลพระราม 9 ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เคยเสนอหรืออาจจะต้องมีการปรับจุดตัด ขึ้น-ลง หรือ ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางให้เหมาะสม ซึ่งต้องรอการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนเพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน