นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรได้เดินทางและทำหนังสือมาร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแนวทางการจัดการปัญหาที่ชัดเจน เพราะนับตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ไม่ให้ใช้หรือครอบครองสารพาราควอต หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับเงินสูงสุด 1 ล้านบาท เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ ประสบปัญหาและเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ไร้มาตรการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร มีแต่เสนอสารเคมีเกษตรอื่นๆ มาให้เป็นทางเลือก แต่ไม่สามารถใช้แทนพาราควอตได้ โดยเฉพาะกลูโฟซิเนต ซึ่งกรมวิชาการเกษตรแนะนำ คุณสมบัติ ราคาและประสิทธิภาพแตกต่างกับพาราควอตอย่างสิ้นเชิง แถมทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชปลูกมากกว่าเดิม
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายผ่าน 11 สมาคมด้านการเกษตร ได้แก่ สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำกลอง กลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ช่วงฤดูฝนนี้ วัชพืชเติบโตอย่างรวดเร็ว แย่งอาหารจากพืชปลูก การใช้แรงงานคนกำจัดวัชพืชแทนพาราควอต ไม่สามารถทำได้เลย เพราะต้นทุนสูง แรงงานภาคการเกษตรไม่เพียงพอ เครื่องจักรกลจะใช้ก็มีข้อจำกัดทั้งในแง่ต้นทุนและพื้นที่แต่ละแปลงปลูก
“เกษตรกรไทย จึงต้องรับกรรม รับภาระจากแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่เป็นธรรม จึงขอร้องทุกข์ต่อ นายกรัฐมนตรี ให้ลงมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยด่วน และทบทวนมาตรการยกเลิกพาราควอตโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เกษตรกรได้ยื่นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง และครั้งนี้ หวังว่า นายกรัฐมนตรี จะให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรไทย เพราะเกษตรกรไม่รู้จะพึ่งใครอีกแล้ว สำหรับแนวทางที่ดีที่สุด สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยมีความคิดเห็นว่า ควรส่งเสริมมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร และฝึกอบรมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีความรู้ เพื่อให้สามารถใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ตามแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หรือเกษตรปลอดภัย นั่นเอง”