นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 ธนาคารพันธมิตร “โครงค้ำประกันสินเชื่อ ซอฟต์โลน พลัส” วงเงิน 57,000 ล้านบาท มีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ว่า ตั้งเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 34,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 57,000 ล้านบาท ช่วยลดปัญหาการว่างงานโดยสามารถรักษาการจ้างงานได้กว่า 360,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ให้ บสย. ใช้ค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อขอกู้เงินจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันปล่อยกู้ไปได้เพียง 1 แสนล้านบาท ทำให้มีวงเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาท

“มองว่าการค้ำประกันอีก 6 หมื่นล้านบาท จะช่วยทำให้เกิดสินเชื่อในระบบอีก 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการซอฟต์โลน ของธปท. ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10”

ทั้งนี้ ยืนยันฐานะการเงินการคลังของไทยมีความเข้มแข็งมาก เห็นได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า สะท้อนความเชื่อมั่นเงินทุนต่างชาติไหลเข้า แม้จะมีการบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องยากลำบากมาก ที่สำคัญไทยยังมีวินัยการเงินการคลังที่เข้มงวด แต่ยอมรับว่าการใช้จ่ายในประเทศลดลง เพราะประชาชนระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงการพิจารณาและเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 มีความล่าช้านั้น กระทรวงการคลังยืนยันทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลา หากมีความล่าช้าไปประมาณ 1-4 สัปดาห์ก็ยังถือว่าอยู่ในวิสัยปกติ และยังสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ภายใต้เกณฑ์การพิจารณางบประมาณของปี 2563 ได้ไปพลางก่อน ไม่กระทบการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ ในภาพรวม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน