นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกโปรโมชั่นลดราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) โดยให้กลับไปเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิมตามปกติคือ 14-42 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยกลับไปคิดค่าโดยสารต่อสถานีละ 2 บาท แต่ยังคงอัตราค่าโดยสารแรกเข้าไว้ที่ 14 บาท จากเดิมที่คิดค่าโดยสารสถานีละ 1 บาท รวมราคา 29 บาทตลอดสาย (รวมค่าแรกเข้า)

ส่วนด้านโปรโมชั่นค่าโดยสารในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่เคยคิดในอัตรา 15 บาทตลอดสายนั้น จะยกเลิกเช่นกัน สำหรับค่าจอดรถที่เคยคิดในอัตรา 2 ชั่วโมง 5 บาท จะกลับไปใช้ในอัตราเดิมเช่นกันที่ จัดเก็บอัตรา 10 บาทต่อ 2 ชั่วโมง หรือเดือนละ 1,000 บาทสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล และประเภทรถจักรยานยนต์ 10 บาทต่อ 4 ชั่วโมง

โดยมีอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ไว้ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อาคารจอดรถสถานีบางรักน้อยท่าอิฐ อาคารจอดรถสถานีสามแยกบางใหญ่ และอาคารจอดรถสถานีคลองบางไผ่

อย่างไรก็ตาม บอร์ดมีความเห็นให้รฟม. ไปดำเนินการจัดโปรโมชั่นจูงใจผู้โดยสารในรูปแบบอื่น เช่น โปรโมชั่นตั๋วรายเดือน และโปรโมชั่นตั๋วโดยสารไม่จำกัดเที่ยว เป็นต้น หลังจากนี้จะเร่งสรุปแนวทางเพื่อเสนอที่ประชุมบอร์ดต่อไป

“การขึ้นราคาเป็นการลดภาระการอุดหนุนจากภาครัฐ อีกทั้งที่ผ่านมาการปรับลดราคาค่าโดยสารนั้นทำให้มีรายได้น้อยลง ประกอบกับในขณะนั้นยังไม่มีการเชื่อมต่อ 1 สถานีเตาปูน-บางซื่อ ส่งผลให้รฟม. ต้องปรับลดราคาค่าโดยสาร แต่ขณะนี้ได้ทำการเชื่อมต่อ 1 สถานีมาระยะหนึ่ง สอดคล้องกับในวันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นวันเดียวกับที่รัฐบาลเริ่มต้นใช้บัตรสวัวดิการผู้มีรายได้น้อย” นายฤทธิกากล่าว

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มราคากลับไปใช้ในอัตราเดิมนั้นจะช่วยให้รฟม. มีรายได้เพิ่มขึ้นราว 30% ของรายได้รถไฟฟ้าสายสีม่วงในปัจจุบัน หรือคิดเป็นเฉลี่ยวันละ 168,000 บาท แต่คาดว่าการเพิ่มราคาค่าโดยสารในครั้งนี้จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลง 10% หรือคิดเป็นจำนวน 5,200 คนของผู้โดยสารทั้งหมดในขณะนี้ ซึ่งอยู่ที่ราว 52,000 คนต่อวันในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ขณะที่วันหยุดนั้นมีผู้โดยสารอยู่ที่ 34,000 คน

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีรายได้เฉลี่ย 560,000 บาทต่อวันหรือคิดเป็นเดือนละ 16.8 ล้านบาท และรัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนโครงการดังกล่าวตกเดือนละ 5 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน