จุดเปลี่ยนจาก‘เราไม่ทิ้งกัน’สู่‘ไทยชนะ’
เปิดฉากเยียวยาหมดหน้าตัก 2 แสนล้าน

จุดเปลี่ยนจาก‘เราไม่ทิ้งกัน’สู่‘ไทยชนะ’ เปิดฉากเยียวยาหมดหน้าตัก 2 แสนล้าน – เปิดฉากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ภายใต้ชื่อมาตรการ ‘เราชนะ’ ให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564

ภายใต้ ‘โจทย์ใหม่’ ที่กระทรวงการคลังต้องพลิกแพลง บทเรียนจากมาตรการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เมื่อกลางปี 2563 ที่แจกเงินเยียวยาให้กับประชาชนร่วม 26 ล้านราย ครอบคลุมทั้งกลุ่มอาชีพอิสระ และเกษตรกร รายละ 15,000 บาท ช่วง 3 เดือน

นับเป็นการแจกเงินถึงมือประชาชนเพื่อกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ ที่ใช้เม็ดเงินมากเป็นประวัติศาสตร์

แม้ผลในทางเศรษฐกิจจะช่วยประคับประคองให้การ ฟื้นตัวเริ่มเข้าที่เข้าทางในช่วงไตรมาส 3/2563 แต่ในมุมมองการเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ความเหลื่อมล้ำในการ เข้าถึงมาตรการการคัดกรองผู้ได้สิทธิ์ ยังเป็นคำถามต่อสังคมในหลายภาคส่วน

มิหนำซ้ำยังเป็นผลงานชิ้นโบดำปักกลางหลังรัฐบาล ในช่วงนั้น

‘เราชนะ’ จึงต้อง คิดใหม่ ในโจทย์เดิม ผลกระทบแบบเดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีสาระสำคัญอะไรบ้าง ที่เปลี่ยนจาก ‘เราไม่ทิ้งกัน’ มาเป็น ‘เราชนะ’ ในมุมที่กระทรวงการคลังเห็นว่าเป็นประโยชน์ ‘มากกว่า’

การเปลี่ยนรูปแบบการคัดกรองว่าใครควรได้รับสิทธิ์บ้างเป็นประเด็นสำคัญ ที่กระทรวงการคลังเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้ความวุ่นวายในมาตรการเราชนะ ลดลงจาก ‘Positive List’ หรือคิดจากจำนวนประชากร 0 คน แล้วช่วยทุกกลุ่ม ที่เห็นว่าต้องได้รับการเยียวยา

มาเป็น ‘Negative List’ หรือคิดจากจำนวนประชากร ทั้งประเทศ 66 ล้านคน แล้วตัดกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือออกไป

นำมาสู่การตัดสินใจในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 เห็นชอบหลักเกณฑ์มาตรการ เราชนะ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ผ่านความเห็นชอบ จากที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเยียวยา ผลกระทบโควิด-19 ที่มีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน

เคาะกลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินเยียวยาแน่นอนออกมา 7 กลุ่ม คือ

1.เป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

2.ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

3.ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ

4.ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535

5.ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ

6.ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูล ที่มีล่าสุด

และ 7.ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

จากเกณฑ์นี้จึงเหลือกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับสิทธิ์ไม่เกิน 31.1 ล้านคน ภายใต้งบประมาณ 2.1 แสนล้านบาท มาจากเงินกู้ตามพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนงบเยียวยาที่เหลือทั้งหมด 2 แสนล้านบาท และโอนส่วนงบฟื้นฟูมาอีก 1 หมื่นล้านบาท

กลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยาแน่นอนคือกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐ (บัตรคนจน) 13.8 ล้านคน และกลุ่มอาชีพอิสระ

กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบและไม่เข้าเกณฑ์ Negative List ซึ่งมีการโหลดใช้แอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ 16.8 ล้านคน บางส่วนจะได้รับสิทธิ์ เราชนะ ส่วนกลุ่มที่เหลือ ต้องมาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราชนะทั้งหมด

วิธีการคัดกรองสิทธิ์แบบนี้ จึงทำให้ผู้ที่ควรได้รับสิทธิ์ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะรัฐจะคัดกรองให้ก่อนทั้งหมด

อย่างไรก็ตามที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก คือรูปแบบการ แจกเงินเยียวยาของไทยชนะ จากเดิมที่แจกเงินสดเพื่อไปชำระค่าใช้จ่ายได้ทุกประเภท เป็นแจกวงเงินใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ผลพวงจากความสำเร็จของ ‘คนละครึ่ง’ ที่ทำให้ประชาชนใช้กระเป๋าตังอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) กันค่อนประเทศ

รูปแบบการแจกเงินเปลี่ยนไป โดยมาตรการเราไม่ทิ้งกันจ่ายเป็นเงินเข้าบัญชีเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน กดผ่านตู้เอทีเอ็มได้เลย ขณะที่เราชนะจ่ายเป็น ‘วงเงิน’ ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง รวม 7,000 บาท ช่วง 2 เดือน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ จะได้รับวงเงินใช้จ่ายกับร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ได้รับเป็นเงินสดเนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนสัมผัสตัวเงิน เพราะอาจจะมีเชื้อโควิด-19 ปะปนมาได้ และรัฐบาลอยากให้ประชาชนมีประสบการณ์กับสังคมไร้เงินสด

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็น การจ่ายแบบเงินสด หรือจ่ายแบบวงเงิน ผลในทางเศรษฐกิจมีค่า เท่ากัน เพราะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย

ความซับซ้อนอีกเรื่องของ เราชนะ คือการจ่ายเงินเยียวยาไม่ได้จ่ายเป็นก้อนเดียว แต่จะทยอยจ่ายเพื่อให้ผู้ได้สิทธิ์ทยอยใช้ ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในไตรมาส 1 ของปี 2564

ภาครัฐจะจ่ายเงิน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้มีบัตรคนจน ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนรวม 5,400 บาท

กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนรวม 5,600 บาท โอนเงินทุกวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2564

2.กลุ่มผู้ที่มีแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่าน แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เป็นรายสัปดาห์จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนรวม 7,000 บาท สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2564

เริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุกๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564

และ 3.กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรคนจนและกลุ่มผู้ที่มีแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง หลังจากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ. และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2564

เริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุกๆ วันพฤหัสบดี จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564

เมื่อต้องใช้จ่ายเป็นวงเงินผ่านแอพ พลิเคชั่นเป๋าตัง สิ่งสำคัญที่คนใช้และร้านค้าต้องมีคือ ‘โทรศัพท์สมาร์ตโฟน’ ที่รองรับ ซึ่ง สศค.ยืนยันว่ามาตรการนี้ต้องใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น ยังไม่ทบทวนให้จ่ายเป็นเงินสด ตามที่มีกลุ่มประชาชนบางส่วนเรียกร้อง

ในส่วนของประชาชนที่มีแอพ พลิเคชั่นเป๋าตังสามารถใช้สิทธิ์ได้ที่ร้านค้าได้เลย วิธีการใช้จ่ายเหมือนคนละครึ่ง คือเปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อสแกน คิวอาร์โค้ดจากร้านค้า

ส่วนผู้ถือบัตรคนจนให้ใช้บัตรคนจนไปสแกนแอพพลิเคชั่นเราชนะกับร้านค้

ร้านค้าธงฟ้าจะเริ่มรับจ่ายผ่านบัตรผ่านเครื่อง EDC และมีแอพพลิเคชั่น ถุงเงินธงฟ้า เพื่อใช้สแกนรับจ่ายจากบัตรคนจนที่ได้สิทธิ์ในมาตรการเราชนะด้วย

นอกจากนี้ยังขยายครอบคลุมไปถึงบริการ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เพิ่มบริการขนส่งสาธารณะให้เข้าร่วมโครงการเราชนะได้

ครอบคลุมนิติบุคคล คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รถร่วม รถไฟฟ้า รถไฟ และขนส่งส่วนบุคคล เช่น แท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งต้องมาลงทะเบียนร้านค้า มีแอพพลิเคชั่น ถุงเงิน จึงจะใช้สิทธิ์ได้

ท้ายที่สุดจากมาตรการที่ทุ่มเงินหมดหน้าตักกว่า 2.1 แสนล้านนี้ คลังคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้เพิ่ม 0.5-0.6%

ส่วนในแง่ของการตกหล่น คลังเตรียมเปิดลงทะเบียนกลุ่มพิเศษอีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ. นี้

แม้ว่าโครงการจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบที่เปลี่ยนไป แต่ตัวเลขจากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราชนะในช่วงเช้าวันแรก (29 ม.ค.) ก็ร่วมกว่า 5 ล้านรายแล้ว

ความท้าทายของกระทรวงการคลังจากนี้คือจะให้สิทธิ์ไปถึงมือผู้ที่ควรจะได้อย่างทั่วถึงหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน