นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยกฎหมายฉบับนี้ เป็นการเริ่มต้นการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับสิทธิในการเรียกร้องในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่อง เป็นกฏหมายที่เพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

เป้าหมายคุ้มครองสินค้าที่มีความซับซ้อน อาทิ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ที่มีปัญหาหลังจากซื้อออกจากร้านไปเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งว่า สินค้านั้นชำรุดก่อนหรือหลังซื้อ โดยขั้นตอนจากนี้ภายหลังจากกฎหมายผ่านครม.แล้ว จะส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบรายละเอียดของกฎหมายต่อไป

“สคบ.อยากคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิในการเรียกร้องในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่อง เพื่อจะได้ไม่มีภาพของคนไปทุบรถหน้า สคบ. เหมือนที่ผ่านมา โดยกฎหมายมีสาระสำคัญกับการดูแลคนที่เช่าซื้อ หรือคนที่ผ่อนสินค้า จะมีสิทธิในการฟ้องร้องเหมือนกับผู้ที่เป็นคนซื้อสินค้า เพราะแต่เดิมคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้เรียกร้องไม่ได้”นายณัฐพร กล่าว

ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่าสคบ.รายงานว่า ที่ผ่านมากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่บังคับใช้ในปัจจุบัน เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีพื้นฐานจากเสรีภาพของบุคคลตามการแสดงเจตนารัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และอาศัยช่องว่างดังกล่าวเอาเปรียบผู้บริโภค ภาครัฐจึงต้องกำหนดกรอบความรับผิดชอบของเรื่องดังกล่าวออกมา เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในลักษณะนี้ให้หมดไป

สำหรับสาระสำคัญของกฏหมาย คือ กำหนดให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ให้เช่าซื้อที่เป้นผู้ประกอบธุรกิจ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ให้สถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์ โอนสิทธิทั้งหลายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้ใช้สินค้าได้รับสิทธิเรียกร้องกับผู้บายได้โดยตรง และเมื่อสินค้าเกิดการชำรุด และผู้บริโภคใช้สิทธิเรียกร้องไปแล้ว ต่อมามีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าแต่ยังคงชำรุดอยู่ ก็ให้ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคากับผู้ขาย หรือยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ และให้ถือเป้นการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปด้วย

อย่างไรก็ตามยังให้ไปกำหนดความหมายของสินค้าชำรุดบกพร่องให้ชัดเจน หากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันส่งมอบ ให้สันนิษฐานว่าสินค้าชำรุดมาตั้งแต่วันส่งมอบ พร้อมกำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจกรณีสินค้าชำรุด เช่น การเรียกค่าเสียหายต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้าได้ 2 ครั้ง หากยังชำรุดอยู่ก็ให้ผู้บริโภคบอกเลิกสัญญา ขอลดราคา เรียกค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ และให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้ ส่วนกรณีที่สินค้านั้นผ่านการซ่อมแล้วแต่ไม่ได้ดีขึ้น ผู้บริโภคต้องการบอกเลิกสัญญา หรือ ลดราคา หรือเรียกค่าเสียหาย ต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยข้อเรียกร้องนี้จะมีอายุความ 2 ปี

ด้านพล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสคบ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสคบ.ได้ประชาพิจารณ์กฎหมายไปแล้ว โดยเห็นว่า สินค้าที่น่าจะมีปัญหา อาจเป็นสินค้าไฮเทคที่ตรวจสอบเองไม่ได้ โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ รถยนต์ และโทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้ว 3-6 เดือน เกิดการชำรุดขึ้นมา ซึ่งน่าจะเข้าข่ายในกฎหมายฉบับนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน