นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงกรณีภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนและพิจารณาแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.เป็นต้นไป แต่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศให้บางมาตราของ พ.ร.ก.นี้ เลื่อนมีผลบังคับใช้ออกไป 180 วัน จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ว่า ที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของสมาคมร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีต่างๆ ที่มีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อ พ.ร.ก.ดังกล่าว เช่น กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลักๆ ได้เสนอขอให้ทบทวนแก้ไขนิยามของกรรมกร ในกฎหมายยังห้ามคนต่างด้าวทำงานเดินบิล เสิร์ฟ หรือปรุงอาหาร (กุ๊ก) ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ร้านอาหารจำนวนมากขาดแคลนแรงงานคนไทย มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า หากมีการปรับแก้ไขกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ทั้งในแง่บทลงโทษ และนิยาม เชื่อมั่นว่าจะทำให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย จะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายได้มากขึ้น ร้านอาหารก็จะรู้ต้นทุนชัดเจนในการรับคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ขณะเดียวกันคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ซึ่งได้รับการตรวจร่างกาย และเมื่อมีรายได้เรื่องภาษีก็จะตามมา ล้วนทำให้ระบบสังคมดีขึ้น

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.ก. กำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ที่คนให้ความสนใจอย่างมาก คือ บทลงโทษรุนแรง เช่น ผู้ใดรับต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน, ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน, คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน