คลังหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 1.3% รับโควิดลามหนัก แต่โชคดีส่งออกกระฉูด 16.6% – รีดรายได้วืดเป้า 2 แสนล้าน ยันไม่ต้องห่วง ยังกู้ได้อีก

คลังหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 1.3% – น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ลงเหลือ 1.3% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8-1.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.3% จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/2564 ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมทั้งได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ ลดลงเหลือ 3 แสนคน ลดลง 95.5% รายได้จากการท่องเที่ยวเหลือ 2 หมื่นล้านบาท ลดลง 93.5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ดีที่ 16.6% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 11%

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ระดับ 4-5% จากภาพรวมภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคนต่อปี ขณะที่ทิศทางการส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

“ยอมรับว่าคลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้ลงมาค่อนข้างเยอะพอสมควร จากเหตุผลหลักคือตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก แต่ก็มองว่ายังมีเม็ดเงินจากภาครัฐ รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังสามารถจะพยุงเศรษฐกิจให้ไม่ขยายตัวติดลบได้ จึงออกมาเป็นตัวเลขที่ 1.3% ต่อปี ซึ่งในช่วงคาดการณ์ด้านต่ำตัวเลขจีดีพีก็ยังไม่ติดลบ แต่ก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์รายวันที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก” น.ส.กุลยา กล่าว

ขณะที่การใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) ปัจจุบันมีการอนุมัติแล้ว 301 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 9.92 แสนล้านบาท และมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 7.82 แสนล้านบาท คิดเป็น 78.78% ของวงเงินที่มีการอนุมัติ โดยยังเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ดังกล่าวเหลืออีก 7.19 พันล้านบาท ส่วน พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปีนี้ 2 แสนล้านบาท และในปี 2565 อีก 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด โดยได้มีการประเมินว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะสูงสุดในช่วงกลางเดือนส.ค. นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง 2. ข้อจำกัดเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3. ความผันผวนในตลาดน้ำมันโลก และ 4. ทิศทางนโยบายการเงินของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2564 ยอมรับว่าจะทำได้ต่ำกว่าประมาณการณ์อย่างน้อย 2 แสนกว่าล้านบาท โดยจากข้อมูลการจัดเก็บรายได้สะสมจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 พบว่า จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายแล้ว 1.9 แสนล้านบาท แต่ยังมีระยะเวลาเหลืออีกประมาณ 1 ไตรมาส ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

แม้ว่าการจัดเก็บรายได้จะไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่อยากให้หลายฝ่ายต้องกังวล เนื่องจากกระทรวงการคลังยังมีวงเงินกู้เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่จำเป็นอยู่ ทั้งการกู้ขาดดุลงบประมาณ และการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ที่ยังสามารถรองรับรายได้ในส่วนที่หายไป และยังสามารถรักษาระดับเงินคงคลังภายในปีงบประมาณ 2564 อย่างน้อยที่ 4 แสนล้านบาทได้ จึงยังไม่มีข้อกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการเงินคงคลัง

น.ส.กุลยา กล่าวอีกว่า ในส่วนมาตรการคนละครึ่งขณะนี้ได้เร่งหารือกับ Food Delivery Platform ไปแล้วประมาณ 5 ราย และหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งก่อนสรุปแนวทางเพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่งสามารถใช้จ่ายผ่าน Food Delivery Platform ได้ทันภายในเดือนต.ค. 2564 ซึ่งเม็ดเงินของมาตรการคนละครึ่งก้อนใหม่จะออกมา ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการเพิ่มวงเงินในมาตรการคนละครึ่งนั้น ยังไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้

“คลังมีการดำเนินการมาตรการสนับสนุนการบริโภคและกระตุ้นการใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา ผ่านมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเหมาะสมเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ แต่ช่วงนี้มีมาตรการล็อกดาวน์ คลังจึงไม่ได้ออกมาพูดถึงความคืบหน้ามากนัก เพราะกังวลสถานการณ์และอยากให้ประชาชนปฏิบัติตามแนวทางของสาธารณสุขมากกว่า แต่ก็ไม่อยากให้ต้องเป็นห่วงเพราะคนละครึ่งดำเนินการยาวถึงไตรมาส 4/2564 หากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้มาตรการก็จะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และหากมีความต้องการเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม คลังก็พร้อมดำเนินการทั้งจากโครงการที่มีอยู่แล้ว หรือโครงการที่มีการเสนอเข้ามา เช่น ช้อปดีมีคืน ที่หากจะดำเนินการก็ควรเป็นตอนสถานการณ์ปกติ หากดำเนินการตอนนี้มาตรการจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร ส่วนจะนำกลับมาใช้หรือไม่ขอติดตามสถานการณ์ก่อน” น.ส.กุลยา กล่าว

ส่วนทิศทางหนี้สาธารณะที่คาดการณ์ว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ระดับ 58.88% นั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่ายังสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อจีดีพีได้ แต่หากมีการกู้เงินในรูปแบบต่างๆ จนส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะแตะหรือเกินกรอบวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถปรับขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ โดยเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ให้พิจารณาขยายกรอบวินัยการเงินการคลังได้ตามสถานการณ์จำเป็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน