ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ถล่มค้าปลีก ความเชื่อมั่นดิ่งสุดในรอบ 16 เดือน ติดลบ 70% เสียหาย 2.7 แสนล้าน กระทบ 100,000 ร้านค้า ต้องปิดกิจการ

ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวถล่มค้าปลีก – นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค้าปลีกวิกฤตหนัก จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.ค. 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก อยู่ที่ระดับ 16.4 ลดลงต่ำสุด ในรอบ 16 เดือน คิดเป็นความเชื่อมั่นติดลบถึง 70% เป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท มาจากการลดลงของยอดขายสาขาเดิมเดือนก.ค. ซึ่งลดลงทั้งการใช้จ่ายต่อครั้ง และความถี่ในการจับจ่าย โดยลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. และไม่มีพฤติกรรมในการกักตุนสินค้า เพราะกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนตัวลง

ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวต้องใช้เวลา สมาคมฯ คาดว่าภาคการค้าปลีก และบริการครึ่งปีหลังจะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี เพราะความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า และมาตรการการเยียวยาที่ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้มีกว่า 100,000 ร้านค้า เตรียมปิดกิจการ ส่งผล กระทบ ต่อการจ้างงานกว่าล้านคน

“ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา น่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตารุนแรงกว่าระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ในเดือนส.ค. ที่ปัจจุบันได้ขยายจังหวัดคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น”

ดังนั้นจึงอยากขอให้รัฐบาลควรเร่งเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็วที่สุด โดยภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาเข้มข้นแบบเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ พยุงการจ้างงาน รวมทั้งเร่งสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ โดยสมาคมฯ มี 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยานายจ้างช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 50% เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน 2. ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน

3. ภาครัฐต้องเร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ซอฟต์โลนให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน (ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย) หากการอนุมัติยังล่าช้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่าแสนรายอย่างแน่นอน และ 4. ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน