‘อาคม’ ประสาน 2 แบงก์รัฐจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 8,000 ล้าน ให้ 5 สมาคมท่องเที่ยว ปรับเงื่อนไขให้ค้ำกู้ไขว้กันได้

‘อาคม’ประสาน2แบงก์รัฐ – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ประสาน 2 ธนาคาร คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่ วงเงิน 8,000 ล้านบาท ให้ 5 สมาคมท่องเที่ยว

ทั้งนี้ 5 สมาคม ที่จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมสปาไทย และสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนกลุ่มนี้ ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ไวรัส โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก และยังได้รับผลกระทบจากการจำกัดกิจกรรมและกิจการต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังรับข้อเสนอของเอกชนท่องเที่ยว ที่เสนอเข้ามาถึงการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการกู้เงินจากเดิมที่กำหนดให้ใช้สินทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ มาเป็นการกำหนดให้ผู้กู้ที่เป็นภาคเอกชนจาก 5 สมาคมนี้ สามารถค้ำประกันไขว้กันแทนได้ เช่น ค้ำไขว้กันระหว่างบริษัทต่อบริษัท หรือผู้บริหารตัวต่อตัว เพราะแนวทางนี้จะสามารถปลดล็อกการกู้เงินได้สะดวกมากกว่า และทำให้ ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวงเงินได้ง่าย

กระทรวงการคลังได้รับไปพิจารณาและมอบหมายให้ธนาคารต่างๆ เร่งไปปรับเงื่อนไขโดยเร็ว เพื่อให้สามารถกู้เงินได้ภายในปลายเดือนส.ค.นี้ หรือต้นเดือนก.ย. 2564 ต่อไป สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวนั้น ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์ได้จัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยายกิจกรรม ปรับปรุง ซ่อมแซม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

ส่วนธนาคารออมสินได้จัดสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว ใช้เป็นเงินทุนดำเนินกิจการหรือเสริมสภาพคล่อง วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท ให้กู้เป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีเท่ากับ 3.99% และปลอดชำระเงินต้นในปีแรก

“ข้อเสนอเดิมของทางภาคเอกชนได้เสนอขอวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไป 1 หมื่นล้านบาท เพื่อมาใช้รีสตาร์ตธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ แต่รมว.คลัง บอกว่าตอนนี้มีเงินอยู่ประมาณ 8 พันล้านบาท โดยขอให้ค้ำไขว้กันได้ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะตั้งโต๊ะเชิญผู้ประกอบการจากทั้ง 5 สมาคมว่ามีรายใดต้องการสินเชื่อเท่าไร จากนั้นได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไปหารือกับปลัดกระทรวงการคลัง อีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยจะเร่งทำให้เร็วที่สุด ส่วนวงเงินที่เหลือรมว.คลัง ก็บอกว่า หากเงินก้อน 8 พันล้านบาทเต็มแล้ว อาจให้ธนาคารกรุงไทย เข้ามาปล่อยกู้ด้วยเพื่อให้ครบ 1 หมื่นล้านบาท”นายพิพัฒน์ กล่าว

สำหรับสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวนั้น ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์ได้จัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยายกิจกรรม ปรับปรุง ซ่อมแซม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

ส่วนธนาคารออมสินได้จัดสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว ใช้เป็นเงินทุนดำเนินกิจการหรือเสริมสภาพคล่อง วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท ให้กู้เป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีเท่ากับ 3.99% และปลอดชำระเงินต้นในปีแรก


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน