เศรษฐกิจก.ค. สาหัส-เอกชนงดบริโภค ลงทุน ด้านส่งออกเริ่มแผ่ว แบงก์ชาติไม่การันตี คลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย. คนจะเชื่อมั่นเพิ่ม

เศรษฐกิจก.ค. สาหัส – น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค. 2564 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง โดยมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น

ด้านการส่งออกสินค้าแผ่วลงจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศ และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป โดยการส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ

“การส่งออกเดือนก.ค. 2564 ถือว่าแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า ประมาณ 0.8% โดยเริ่มได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมและในประเทศ และจากอุปสงค์ชะลอลงจากประเทศคู่ค้า ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มส่งผลกระทบโดยเฉพาะการส่งออกหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และการส่งออกอาหารแปรรูปจากการแพร่ระบาดในโรงงานเริ่มส่งผลกระทบ ขณะที่การส่งออกบางกลุ่มยังโตได้ โดยเฉพาะข้าว ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก” น.ส.ชญาวดี กล่าว

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้างที่แผ่วลงตามภาวะอุปสงค์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานยังกดดันการผลิตในหลายหมวด ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นในบางหมวดสินค้า อาทิ เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ขณะที่บางหมวดมีการนำเข้าลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลง

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เริ่มขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาวะปกติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในเดือนนี้ของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยืดเยื้อ

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนส.ค. 2564 นั้น มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงและมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งต้องติดตามผล กระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาซับพลายดิสรัปชัน รวมทั้งการแพร่ระบาดในโรงงาน และการขาดแคลน เซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงเศรษฐกิจคู่ค้าที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2564 ยังเป็นไปตามคาดการณ์ แม้ว่าจะมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน ตั้งแต่ 1 ก.ย. ก็ยังเป็นไปตามที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายช่วงปลายไตรมาส 3/2564 แต่ก็ยังต้องพอจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะเรื่องซับพลายดิสรัปชัน การแพร่ระบาดในโรงงาน และสถานการณ์แพร่ระบาดในต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับประมาณการอีกครั้งในรอบต่อไป

“ต่อให้เปิดเมือง ก็มีเรื่องความเชื่อมั่นประชาชนด้วยว่าจะมากน้อยแค่ไหน มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม มาตรการภาครัฐ ช่วงที่ผ่านมามีการอัดฉีดเรื่องการเยียวยา ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือ จะออกมาจับจ่ายใช้สอยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคงต้องติดตามดูในเดือนก.ย. ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร”น.ส.ชญาวดี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน