เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หรือ “หมอลี่” ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองของกสทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธพลเมือง

นายประวิทย์ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ ถือเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางการปกครอง เพื่อนำข้อสรุปจากการประชุมจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ และรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของกสทช. โดยคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินว่าจะควบรวมได้หรือไม่ ซึ่งการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ต้องให้กสทช. ในฐานะกำกับดูแลอนุญาตก่อน ต้องมีการพิจารณาและมีข้อสรุปว่าควบรวมกิจการได้หรือไม่ ซึ่งหากสามารถควบรวมได้ จะต้องมีการกำหนดมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในอนาคตต่อไปด้วย

“การประชุมครั้งนี้ ทางกสทช. ได้ประสานไปยังผู้ขอควบรวมกิจการ ทรูและดีแทค เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้ไม่มีความเป็นกลาง แม้ทางผู้ขอควบรวมกิจการไม่มาร่วมงานครั้งนี้ แต่กสทช. ยังจะจัดการประชุมต่อด้วยข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของผู้ขอควบรวมที่สามารถเปิดเผยได้”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในการประชุมครั้งนี้จะรวบรวมกับข้อมูลความคิดเห็นให้เสร็จในวันที่ 29 พ.ค. และจะรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการกสทช.พิจารณาอีกครั้งในกลางเดือนมิ.ย.นี้

@ หวั่นควบรวมทำตลาดโทรคมฯจุกตัว

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวในวงโฟกัสกรุ๊ปดังกล่าว ว่า จากการศึกษาพบว่าการควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดโทรคมนาคมสูงอย่างมาก จากเดิมในประเทศไทยมีผู้ผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ AIS True Dtac โดย AIS เนี่ยจะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 46-47% , True ราว 33% ในขณะที่ dtac ในประมาณ 18-20% และรายเล็กสุดคือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT อยู่ที่ 3% ซึ่งแปลว่าเมื่อเกิดการควบรวมของทรูกับดีแทคก็จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดขึ้นไปสูสีกับ AIS ดังนั้นจะทำให้การกระจุกตัวเพิ่มขึ้นโดยดัชนี HHI จะแสดงให้เห็นว่าหากเป็นตลาดที่ผูกขาดเพียงรายเดียวจะเป็น 100% โดยค่าจะอยู่ที่ 10,000 แต่เมื่อใดที่ผู้แข่งขันเยอะขึ้นนั้นค่าก็จะลดลงจนใกล้ศูนย์ซึ่งเท่ากับตลาดเกิดการแข่งขันที่เสรีอย่างที่สุด แต่หากมาดูว่าหลังจากเกิดการควบรวมของ True และ dtac ดัชนีจะเพิ่มขึ้นจาก 3,578 ไปที่ 4,823 เพิ่มขึ้นถึง 32.4% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่สำนักงานกสทช.เคยระบุไว้ในกฎหมายว่า หากตลาดมีดัชนี HHI เกิน 2,500 ถือเป็นตลาดที่มีความอันตราย
จากการใช้สูตรคำนวณทางเศรษฐกิจที่มีการคำนวณต้นทุนจึงได้ศึกษาปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นโดยนำเรื่องครอบคลุมของโครงข่าย 3G 4G และ 5G มาทำเป็นแบบจำลองทางสถิติว่าหาก HHI เพิ่มจาก 3,578 จุดเป็น 4,737 จุด

นายฉัตร ชี้ว่า จากราคาเฉลี่ยตามแพคเก็จที่มาหารกัน ตลาดประเทศไทยอยู่ที่ 220 บาทต่อเดือน แต่หากเมื่อมีการควบรวมธุรกิจกัน ทำให้พบว่าหากมีการแข่งขันกันรุนแรงแม้จะเหลือเพียง 2 ราย ราคาค่าบริการก็ยังเพิ่มขึ้นราว 7-10% ราว 235-242 บาท แต่ถ้าเกิดมีการแข่งขันกันตามปกติราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 13-23% ราว 249-270 บาท แต่หาก 2 รายรู้สึกว่าพอใจกับจำนวนลูกค้ากับการแข่งขันที่เป็นอยู่จนไม่เกิดการแข่งขันกับมาร์เก็ต แชร์คนละ 50% และสามารถขึ้นราคา หรือฮั้วค่าบริการกันได้ จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้เลย ราว 66-120% คิดเป็นราคา 365-480 บาท

นายฉัตร กล่าวต่อว่า ตัวประกาศกสทช.ปี 2561 แม้ว่าข้อ 5 จะเขียนว่า ให้การควบรวมนั้นเป็นการรายงานแต่ว่าถ้าพลิกประกาศฯมาอีกหน้าเดียว ในข้อ 9 คือระบุว่าการควบรวมต้องได้รับการอนุญาตจากกสทช.และข้อ 8 เขียนว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันทั้งทางตรงทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนโดยมีการซื้อหุ้นหรือเข้าถือครองหุ้นเกิน 10% ขึ้นไปจะทำไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตซึ่งถ้าเกิดการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันกสทช.มีอำนาจสั่งห้ามได้หรือว่าใช้การกำหนดมาตรการเฉพาะก็ได้ซึท่งมาตรการบังคับใช้ได้ประกาศฯ กสทช.ปี 2549 ปี 2561 โดยปี2561 มีเงื่อนไข 4 ข้อคือ 1.HHI เกิน 2,500 ซึ่งตรงนี้เห็นได้ชัดว่าเกินอยูาแล้ว 2.การควบรวมทำให้การกระจุกตัวเพิ่มขึ้นเกิน 100 จุดแต่ครั้งนี้คือเกิน 1,000 จุด 3. มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 4.การครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นทั้งเสาและสถานีฐาน

@ ‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้เป็นบวกเฉพาะผู้ถือหุ้น

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การควบรวมทรูกับดีแทคจะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นทรูและดีแทค เนื่องจากผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือที่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย แต่จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีลเลอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในหลายๆส่วน ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือ การควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้วการควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้ได้อานิสงส์ หรือ ผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น แม้แต่ “เอไอเอส” ที่ไม่ได้อยู่ในดีลควบรวมนี้ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขัน และตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย

นายสมเกียรติ ระบุว่า ผู้ได้รับผลกระทบด้านลบคือผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลงธุรกิจสตาร์ทอัพที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน การควบรวมจะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาลจะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลงรายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด

“ดีลการควบรวม ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์อย่างชัดเจน ดูได้จากราคาหุ้นของดีแทค ก้าวกระโดดขึ้น ตลอด 5 วันหลังจากประกาศวบรวมเมื่อปลายเดือรพ.ย.ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ ทรู หุ้นเพิ่มขึ้น 15% ไม่เว้นคู่แข่งเอไอเอส ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 7.7% ด้วย แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบรวมกิจการ แปลว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 ราย จะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม”

อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่า ในต่างประเทศมีเครื่องมือวัดการผูกขาดเชิงโครงสร้าง คือ ดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index : HHI ซึ่งค่าสูงสุด10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว ขณะที่การควบรวมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมไทย อยู่ที่ 3,700 เพิ่มขึ้นมาที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย เป็นปัญหาใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องพูดถึงในครั้งนี้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่อนุญาต

นายสมเกียรติ เสนอทางออกกรณีการควบรวมทรูกับดีแทคในประเทศไทย ว่า มีทางออก 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหาก ดีแทคจะออกจากประเทศไทยก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรู แนวทางที่สอง อนุญาตให้ควบรวมฯ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากและต้องเข้มข้นในทุกๆมิติให้บริษัทที่ควบรวมกันคืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือ และแนวทางที่สาม อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายฯของตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เหมาะสมนัก เพราะ MVNO ไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลจะยากมาก ดังนั้น จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะยากมาก

“ตลาดโทรศัพท์มือถือในยุโรป จะไม่ยอมให้ควบรวมกันเหลือ 3 ราย แล้วมาเหลือ 2 ราย แม้กระทั่งสิงคโปร์ ซึ่งตลาดเล็กๆขนาดนั้นยังมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ราย แล้วทำไมไทยจะรองรับ 3 รายไม่ได้ ดังนั้น ข้อเสนอที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่ให้มีการควบรวม หากดีแทคจะออกจากตลาดไทย ก็ให้ขายให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรูอีกทั้งเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขัน มีต้นทุนลดลง จะต้องลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน ให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน” นายสมเกียรติ ระบุ

@ ปปณ.ยื่นจดหมายคัดค้านถึงประธานบอร์ด กสทช.

เครือข่ายประชาชนพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ (ปปณ.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า จากกรณีที่สองบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ “ทรู” และ “ดีแทค” จะดำเนินการควบรวมกิจการ และร่วมจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี คอมปานี ในระดับภูมิภาคท่ามกลางกระแสวิพากษ์จากนักวิชาการในทุกภาคส่วน ภาคประชาชน และองค์กรผู้บริโภค ที่ต่างแสดงความเป็นกังวลการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับประชาชนผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษาของ กสทช.เองระบุว่าในปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมายโดยมีผู้ใช้บริการผ่าน 3 ผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ เอไอเอส ทรูและ ดีแทค จำนวน 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 93 จึงทำให้ตั้ง3 รายจัดเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาด ดังนั้น หากมีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นตลาด Duopoly ที่มีผู้ให้บริการผูกขาดเหลือยู่เพียง 2 รายอย่างถาวร ผู้บริโกคมีแนวโน้มจะถูกเอาเปรียบ ไม่มีหนทางเลือก และท้ายที่สุดอัตราค่าบริการมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

@ ‘สอบ.’ระบุผู้บริโภคแบกต้นทุนเพิ่ม

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ “สอบ.” กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาฯ ดำเนินการเปิดเวทีในของส่วนของภาคประชาชนอยู่เรื่อยๆ และได้ข้อสรุปร่วมกันในทุกครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้น และยื่นข้อเสนอไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการกสทช.ชุดเก่าที่รักษาการณ์ไปแล้ว รวมถึงมีการประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการกับผู้บริหารกสทช. เพราะ กสทช.มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขให้มีจำนวนผู้ประกอบการจำนวนเพิ่มขึ้นและผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายของตนเอง การควบรวมขัดต่อกฎหมายหลายตัวเช่น รัฐธรรมนูญ ,พ.ร.บ.กสทช.,พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ในมาตรา 4 ระบุถึงสิทธิที่ผู้บริโภคต้องมีอิสระในการเลือกใช้บริการ และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เนื่องจากการควบรวมทำให้บริษัทใหม่มีอำนาจเหนือตลาดชัดเจน เข้าข่ายงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท ดังนั้น เห็นชัดเจนว่าเมื่อควบรวมกิจการจะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากคิดจากผู้ใช้บริการ 80 ล้านเลขหมายที่มีการใช้งานจริงจากเดิมที่มียอดผู้ใช้งานรวม 120 ล้านเลขหมายโดยหากคิดบนพื้นฐานจากที่ ปัจจุบันผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนทั้งสิ้น 1,760 ล้านบาท แต่หากไม่มีการแข่งขันผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายรวมต่อดือนทั้งสิ้น 13,600 ล้านบาท รายจ่ายที่เพิ่มใครจะรับผิดชอบ ในขณะที่กสทช.เองมีงบในการบริหารต่อเดือนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งไม่พอในการช่วยอย่างแน่นอน

@ ทาง 2 แพร่งลดทางเลือก

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เผยถึงจุดยืนว่า ไม่ได้ขัดขวางการเจริญเติบโต หรือการร่วมทุนของธุรกิจใดๆ แต่ในฐานะผู้บริโภค มองว่าการควบรวมจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่ เพราะแต่เดิมเรามี 3 ทางเลือก แต่ตอนนี้ ควบรวมไปเราถูกตัดทางเลือกออกไปเหลือเพียง 2 ทาง จะเป็นทางสองแพร่งหรือไม่ จะมีหลักประกันอะไรว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะไม่ลิดรอนทางเลือกผู้บริโภค ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ความจริงแล้วภาคธุรกิจเติบโตเราก็ยินดีด้วยและพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ทางเลือกผู้บริโภคก็ควรจะมีมากขึ้นไม่ใช่ลดน้อยถอยลงแบบที่เป็นในตอนนี้

“ไม่มีหลักประกันอะไรได้เลยว่าหากควบรวมไปแล้ว เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาผู้บรอโภคไม่มีพี่พึ่งเหมือนจากถนนมี 3 เลนให้รถวิ่งเหลือ 2 เลน ก็เหมือนว่ามีรถบรรทุกวิ่งกับรถพ่วงไม่ว่าจะไปทางไหน ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้น กสทช.ควรฟังเสียงของผู้บริโภคเสียบ้างไม่ใช่ยึดไปตามสิ่งที่เอกชนเสนอมา กสทช.ต้องไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมอย่างเด็ดขาด”

@ เสียงจากภาคประชาชนคัดค้านดีล

นางสาวบุญยืน กล่าวว่า ผู้บริโภคไม่ได้สนใจในเรื่องของการอยู่รอดของภาคธุรกิจของเอกชน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเน้นย้ำคืออัตราค่าบริการ สินค้าและบริโภคจะต้องเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นในเมื่อเอกชนยังไม่แสดงให้เห็นถึงมาตรการที่จริงใจที่จะคุ้มครองผู้บริโภคและหากในอนาคตมีการควบรวมกันสำเร็จ ผู้บริโภคจะหมดสิทธิที่จะมีทางเลือกที่หลากหลายในการเลือกบริการที่ดีเหมาะสม ในราคาตามที่ต้องการหรือมีกำลังซื้อได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ กสทช.ที่ดำรงตำแหน่งควรใช้อำนาจหรือสิทธิที่มีตามกฎหมายติดตัวมาอย่างเต็มที่และต้องคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิของผู้บริโภคอย่างมาก สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือการพัฒนาโครงข่าย พัฒนาบริการ ในเมื่ออนาคตจะเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์ส และสิ่งที่จะล้มหายตายจากไปตลาดหากเกิดการควบรวมคือคู่ค้าดีลเลอร์รายเล็กรายย่อยที่มีอยู่ในตลาด เพราะมีสิทธิที่ทรู-ดีแทคจะตัดช่องทางการไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อของตัวเอง จะทำให้รายเล็กรายย่อยที่มีอยู่ในตลาดหายไป ส่งผลเสียอย่างมากต่อผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การที่มีการกล่าวอ้างว่า แม้ทรูกับดีแทคจะควบรวมกันก็นะเหลือผู้เล่น 3 รายคงเดิม คือมีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT แต่อยากให้มองภาดตลาดอย่างเป็นจริง NT ไม่ใช่ผู้เล่นจริงๆในตลาดแต่เป็นเพียงแค่ตุ๊กตาเท่านั้น เพราะ NT ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่นำไปใช้บริการได้ทั่วประเทศ ไม่สามารถใช้โรมมิ่งได้ในต่างประเทศด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน